ปลัด ทส. หนุนใช้คำสั่ง คสช.ปลดล็อก ‘อีไอเอ’ โครงการรัฐแก้เรื่องเส้นผมบังภูเขา กระตุ้นศก.-ลดต้นทุน โฆษก ทส.ยืนยันช่วยให้เร่งดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เลขาธิการ สผ.เปิด 70 โครงการรัฐได้ประโยชน์ รมว.คมนาคม เดินหน้า 20 โครงการเมกะโปรเจกต์ มูลค่า 1.78 ล้านลบ. ด้านภาค ปชช.ร่วมต้านเพิ่ม รวม 56 เครือข่าย
10 มี.ค. 2559 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ พร้อมด้วย นางระวิวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมกันแถลงข่าวประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 ให้แก้ไขมาตรา 47 พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่อดำเนินโครงการเร่งด่วน
ประกาศดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้เพิ่มข้อความเป็นวรรคสี่ ของมาตรา 47 ว่า
“ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามวรรคหนึ่ง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้”
ปลัด ทส. หนุนใช้คำสั่ง คสช.ปลดล็อก ‘อีไอเอ’ โครงการรัฐแก้เรื่องเส้นผมบังภูเขา
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวยืนยันว่า ขั้นตอนการทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอ ในโครงการของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ยังต้องดำเนินการตามเดิม โดยต้องผ่านความเห็นชอบ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ ครม. ซึ่งคำสั่งตาม มาตรา 44 จะทำให้กระบวนการทุกอย่างเดินไปคู่ขนานกันได้
ยกตัวอย่าง โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ซึ่งเวลาในการพิจารณาอีไอเอถึง 8 ปี ทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึงกว่าหมื่นล้านบาท หรือสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ตั้งโครงการไว้เมื่อปี 2520 ใช้งบประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท แต่ดำเนินการได้ในช่วงปี 2540 ซึ่งงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นกว่าล้านบาท
หากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสามารถดำเนินการพร้อมกับการพิจารณาอีไอเอ จะเป็นการลดต้นทุนในโครงการต่างๆ ได้จำนวนมาก ประกาศ คสช. ฉบับนี้ จึงทำให้ขั้นตอนต่างๆ เดินหน้าได้พร้อมกันและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
“การออกประกาศของ คสช.ไม่เป็นผลทำให้อีไอเอขาดเอกภาพ หรือส่งผลกดดันกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศ คสช.เรื่องนี้เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจในการดำเนินการตามกิจกรรม 5 ประเภท ตามประกาศ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นการลดขั้นตอนลงให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ขอชมเชยรัฐบาลที่ปลดล็อกในเรื่องเส้นผมบังภูเขาให้กระบวนการทุกอย่างคู่ขนานกันไปด้วยกันได้ โดยยังมีความโปร่งใส ชัดเจน ที่สำคัญโครงการสามารถเดินหน้าไปได้ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมและกระตุ้นการพัฒนาประเทศได้” นายเกษมสันต์ กล่าว
ด้าน นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาอีไอเอนั้นต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1 ปีกว่า จากนั้นหากผ่านอีไอเอแล้วจะต้องมาประมูลหาบริษัทดำเนินโครงการนั้นๆ อีก ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 ปี ทำให้ระยะเวลายืดเยื้อนานไป ซึ่งคำสั่ง คสช.จะทำให้ไม่เสียเวลาเพิ่มเติม เพราะทั้ง 2 อย่างนี้สามารถทำคู่ขนานกันไปได้
หากใครที่เป็นกังวลว่าจะเป็นการล็อกบริษัทไว้แล้วหรือไม่นั้น ตามคำสั่งที่ 9 ระบุไว้ว่า การจัดประมูลนั้นจะไม่มีการลงนามในสัญญาใดๆ ทั้งสิ้นจนกว่าอีไอเอจะผ่าน จึงไม่เป็นการเอื้อให้แก่บริษัทใดๆ แน่นอน และถ้ารายงานอีไอเอไม่ผ่านบริษัทที่เข้าร่วมประมูลนั้นต้องยอมรับเงื่อนไขที่รัฐกำหนดไว้ และจะไม่มีการฟ้องร้องใดๆ กับรัฐเด็ดขาด จึงอยากให้คนที่สงสัยเกิดความระแวงในคำสั่งนี้ อย่าไปคาดหวังว่าจะส่งผลเสียกับประเทศ
ขณะที่ นางระวิวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่การยกเลิกขั้นตอน หรือลัดขั้นตอนการพิจารณาอีไอเอ หรืออีเอชไอเอ แค่มีขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างการประกวดราคาทำคู่ขนานไปเท่านั้น ถือเป็นประโยชน์ต่อโครงการเร่งด่วน เช่น โครงการรถไฟรางคู่ที่ประชาชนต้องการ เป็นต้น
ส่วนการพิจารณารายงานของ สผ.นั้น ยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ ครบถ้วนทุกขั้นตอนเช่นเดิม จึงไม่ควรเป็นกังวลว่าคำสั่งนี้เป็นการเอื้อให้ทุกโครงการ เพราะในคำสั่งที่ 9 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะดำเนินการในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการหรือกิจการใน 5 ด้าน ได้แก่ การคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย ซึ่งโครงการอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในกรอบคำสั่งนี้ก็ต้องดำเนินตามขั้นตอนตามปกติของ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนรวม 46 เครือข่าย ร่วมออกหนังสือคัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 แล้วนั้น ล่าสุดในวันที่ 10 มี.ค.นี้ มีกลุ่มเครือข่ายร่วมคัดค้านเพิ่มอีก 10 เครือข่าย อาทิ มูลนิธิพัฒนาอีสาน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เครือข่ายวาระเปลี่ยนตะวันออก 8 จังหวัด เครือข่ายปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประเทศไทย ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย สมาคมส่งเสริมการพัฒนาสตรีและเยาวชนลำปาง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ซึ่งรวมทั้งหมด 56 เครือข่าย
เลขาธิการ สผ. เปิด 70 โครงการรัฐ ได้ประโยชน์จากคำสั่ง คสช.
Nation TV รายงานคำสัมภาษณ์ของ นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. ระบุบอกว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยมีการพูดคุยหารือกันมาก่อนโดยเฉพาะเรื่องขั้นตอนต่าง ๆ การพิจารณาโครงการ ประเภทโครงการว่ามีอะไรบ้างที่คิดว่าจะเข้าข่ายการใช้คำสั่งนี้ และคัดมาได้ 5 ประเภทโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
ขณะนี้มีโครงการที่จะที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้ 70 โครงการ โดย 20โครงการด้านคมนาคม โดยเฉพาะระบบรางและการสร้างมอเตอร์เวย์ ทางหลวง 36 โครงการ ท่าอากาศยาน 2 แห่งท่าเทียบเรือ 2 โครงการ เขื่อนอ่างเก็บน้ำ 8 โครงการ โรงพยาบาลรัฐ 5 และสิ่งก่อสร้างในทะเล 4 โครงการ โรงไฟฟ้า 4 แห่ง
สำหรับเหตุผลที่ คสช. ออกคำสั่งนี้ เข้าใจว่าต้องการช่วยให้โครงการร่วมทุน เช่น โครงการรถไฟระบบรางคู่ สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น เพราะตามปกติหากต้องรออีไอเอ ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ปี จะทำให้การพิจารณาด้านงบประมาณ และการร่วมทุนซึ่งใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีนั้น ล่าช้าออกไปอีกซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ
ที่มาภาพ: http://www.nationtv.tv
รมว.คมนาคม ยืนยัน เดินหน้า 20 โครงการเมกะโปรเจกต์ มูลค่า 1.78 ล้านลบ.
ไทยโพสต์ รายงานคำสัมภาษณ์ของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายหลังให้ข้อมูลกับผู้จัดการกองทุนทั้งไทยและต่างประเทศในงาน CLSA Asean Forum ครั้งที่ 13 ว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งเดินหน้า 20 โครงการเมกะโปรเจ็กต์ และเพิ่มอีก 3 โครงการ โดยภาครัฐสามารถเปิดประกวดราคาโครงการที่ยังติดขั้นตอนการพิจารณา (EIA)
“วันนี้มาเพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ให้เสร็จในรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น คำสั่งมาตรา 44 จะทำให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนเปิดประกวดราคาพร้อมๆ ไปกับการรอ EIA ทันที และหาก EIA ผ่านโครงการนั้นๆ ก็สามารถลงนามในสัญญาทันที” นายอาคมกล่าว
นายอาคมกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์นั้น ได้หารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว โดยจะนำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ระหว่างก่อสร้างพื้นที่สีเขียว (GreenField) เข้าเป็นทรัพย์สินในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ดังนั้นจึงต้องปรับเงื่อนไขในกองทุน คาดว่าภายในเดือน เม.ย.59 นี้ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณา
รมว.คมนาคมอ้างว่า คำสั่งมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.จะส่งผลบวกกับโครงการ เพราะปัจจุบันยังติดอยู่ในการพิจารณาของ EIA จนไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้ ดังนั้น การประกาศใช้มาตรา 44 จะทำให้กระทรวงคมนาคมสามารถเดินหน้าประกวดราคาและจัดหาผู้รับเหมาได้ ทำให้งานโครงการต่างๆ ที่คั่งค้างเดินหน้าต่อไปได้ทันที
“คำสั่งฉบับนี้จะทำให้ลดระยะเวลาโครงการไปได้ส่วนหนึ่ง เพราะจากเดิมต้องรอผ่าน EIA แต่หลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาโครงการควบคู่ไปได้เลย เมื่อ ครม.เห็นชอบก็จะเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาได้” นายอาคมกล่าว
สำหรับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ทั้ง 20 โครงการ มูลค่า 1.78 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา, มอเตอร์เวย์ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2, รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง, รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นต้น ส่วนอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิด-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และรถไฟทางคู่ เส้นทางหัวหิน-ประจวบฯ
อย่างไรก็ตาม โครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันพบว่ามีโครงการรถไฟทางคู่หลายเส้นทางที่ยังรอพิจารณา EIA รวมไปถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่ปรับเส้นทางใหม่ขยายออกไปอีก 5 กิโลเมตร ทำให้ต้องเสนอไปยังคณะกรรมการ EIA พิจารณา
นอกจากนี้ยังมีโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ต้องปรับข้อมูลโครงการให้เป็นปัจจุบัน และเสนอไปยัง EIA พิจารณาใหม่