ด้วยความตระหนักถึงการพลิกฟื้นทรัพยากรพันธุ์ข้าวพื้นบ้านหลากหลายชนิด ที่เป็นมรดกสืบทอดกันมานานนับพันปี ของชุมชนท้องถิ่นและเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ ที่กำลังโรยรา และมีความเป็นไปได้ที่จะพลันสูญสลายไปในที่สุด อันเนื่องมาจากการส่งเสริมให้ใช้พันธุ์พืช ที่มุ่งหวังประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อแสวงหาแต่ผลกำไร ภายใต้การผลิตแบบระบบเศรษฐกิจ ที่สนองต่อนายทุน เกื้อกูลบริษัทข้ามชาติ ทำให้ชาวนาเข้าสู่กระบวนการปลูกข้าว เหลือทางเลือกเพียงพันธุ์ที่มีการส่งเสริมจากภาครัฐ และกำกับด้วยระบบผูกขาดการตลาด ทำให้ชาวนาต้องพึ่งปัจจัยภายนอก เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมี เป็นต้น
ภายใต้วิกฤติดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการจัดงานพันธุกรรมพื้นบ้านต้านโลกาภิวัฒน์ โดยกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 26 – 27 ม.ค. 2555 ที่วัดบ้านนาสะเดา ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายบำรุง คะโยธา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง ร่วมกับองค์กรประชาชนหลายภาคส่วน อาทิ ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดินทำกินเทือกเขาเพชรบูรณ์(เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ไบโอไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบำรุง คะโยธา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง กล่าวถึงที่มาของการจัดงาน เป็นครั้งที่ 7 ว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้าน สืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามในท้องถิ่น ให้คงอยู่คู่กับชุมชนชาวนาอีสาน และเป็นการนำเสนอทางเลือกในการดำเนินชีวิตของวีถีเกษตรให้สามารถฝ่าฟันวิกฤติการณ์ ให้รู้เท่าทันในระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่มุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์กำไร ที่จะเข้ามาแย่งชิงฐานทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น และพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านที่มีมาคู่ชาวนาอย่างยาวนาน ที่สูญสลายให้กลับมาดำรงอยู่คู่เกษตรกรชาวนา สืบไป นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนในท้องถิ่น ได้ศึกษาเรียนรู้ เป็นการสืบสานต่อไปยังรุ่นต่อรุ่น รวมทั้งเป็นสวัสดิการของคนในชุมชน เพื่อนำรายได้ มาร่วมสร้างอุโบสถ เป็นการต่อไป
นายประวีณ โพธิ์ทัน เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ ต.บ้านเก่า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า นอกจากเป็นการเปิดโอกาสให้ได้มาศึกษางานแล้ว ยังได้มีการร่วมกันจำหน่ายเมล็ดพันธุ์แลกเปลี่ยนพันธุกรรมเพื่อนำไปเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงการต่อสู้ในเรื่องสิทธิชุมชน ของพี่น้องในเครือข่ายฯ ที่ได้รับผลกระทบปัญหาในเรื่องป่าไม้ ที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ให้ได้เรียนรู้ถึงการจัดการตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากนัก ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของท้องถิ่น ที่ชาวบ้านสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้
“การเข้าร่วมครั้งนี้ได้รับประโยชน์และได้เรียนรู้ถึงข้าวสายพันธุ์ต่างๆซึ่งมีซุ้มพันธุ์ข้าวในพื้นที่กว่า 36 สายพันธุ์ เป็นข้าวพื้นบ้านที่ปรากฏถึงความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่อยู่บนที่ราบสูง ที่มีอุณหภูมิปกคลุมไปด้วยอากาศอันอบอุ่นและหนาวเย็น พันธุ์ข้าวที่ให้คุณประโยชน์เหล่านั้น นอกจากกลิ่นหอมชวนสดชื่นที่ได้ลิ้มลอง กลั่น กรอง ตรอง ผลึกออกมาแล้ว ยังได้รับสารวิตามิน ที่ช่วยในการต้านทานโรคภัย ช่วยกระชับความอบอุ่นให้ร่างกาย เช่น ข้าวมะขาม ข้าวลานตา ข้าวอีสาวใหญ่ ข้าวหอมใบเตย ข้าวสาวอุดร เป็นต้น” ประวีณ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางสาวกุสุมา คำพิมพ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดินทำกินเทือกเขาเพชรบูรณ์ กล่าวด้วยว่า ตลอด 3 วัน ที่ได้เข้าร่วมในงานครั้งนี้ นอกจากเป็นการเก็บรักษาพันธุกรรมพื้นบ้านไม่ให้สูญพันธุ์ และไม่ให้เกิดการสูญสลายการพึ่งพาในท้องถิ่นของตนเองแล้ว ยังเป็นการจัดงานเพื่อสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชาวภูไท โดยมีกิจกรรมประกวดตำข้าว การประกวดขบวนแห่เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ผักพื้นบ้านปลอดสารพิษ และการรณรงค์เกษตรอินทรีย์ ให้ประชาชนหันมาทำนาอินทรีย์ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนเกิดการ ลด ละ ที่สุดแล้วจะนำไปสู่การเลิกใช้สารเคมี อันเป็นสิ่งสูงสุดที่จะก่อประโยชนให้คุณค่า ทรงความงดงาม ต่อผืนแผ่นดินมารดร รวมทั้งผู้บริโภคอีกด้วย
กุสุมา เผยด้วยสีหน้าอันหนักแน่นต่อไปว่า ประโยชน์จากงานที่ได้รับ ถือเป็นหลักประกันสำหรับความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเป็นความอยู่รอดของเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ อีกบทหนึ่ง ที่ให้ชีวิตได้เรียนรู้ ให้ชุมชนได้เกิดการปรับตัว พร้อมทั้งเหลียวกลับมาศึกษาคุณค่าพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของตนเอง ด้วยการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของทรัพยากร เพื่อนำมาปฏิบัติผสานกับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทหล่ม ด้วยการสร้างกระแสการปลูกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพื่อไว้ใช้ในครอบครัว ให้มีการสืบทอด อนุรักษ์ พัฒนา ให้เจริญงอกงาม และยั่งยืน ร่วมกันสืบไป
“ นอกจากมีการประกวดขบวนแห่ฯ ตำข้าว และพิธีบายศรีสู่ขวัญ ยังมีกิจกรรมให้ความเพลิดเพลิน สำราญใจ เช่นการแสดงเสียงพิณเสียงแคน อันเป็นศิลปะที่ตกทอดอยู่คู่ชาวอีสานมานนาน ทั้งยังมีการประกวดซุ้มในหมู่บ้าน ได้สัมผัสรสชาติอาหารที่มีอยู่ตามซุ้มของชาวภูไท สุดที่ประทับใจอีกอย่างคือ ได้มีโอกาสถ่ายภาพร่วมกับสาวงามภูไทเป็นที่ระลึกด้วยค่ะ ” กุสุมา กล่าวพร้อมเผยให้เห็นรอยยิ้มใสใส บนใบหน้า
งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้านฯ ถือเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เป็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะร่วมกันกำหนดอนาคตของตนเอง ถือเป็นความงอกงามในความหลากหลายของพันธุ์ข้าว ที่ดำรงอยู่คู่กับเกษตรกรมาเป็นเวลายาวนาน ด้วยความตระหนักถึงการพลิกฟื้นทรัพยากรพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอันมีหลากหลายชนิด ที่เป็นมรดกสืบทอดกันมานานนับพันปี ไม่ให้สูญสลาย ตลอดจนวัฒนธรรม ความเชื่อ พิธีกรรมทางศาสนา ที่วิถีชีวิตของคนอีสานยึดปฏิบัติกันมาภายใต้ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ที่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคนกับข้าว และบนผืนดินที่อยู่อาศัย ดังคำที่กล่าวว่า “นาดีๆ ต้องใช้ข้าวปลูกพันธุ์ดี ถ้าปลูกไม่ดีจะทำให้เสียที่นา…”
รายงานโดย อาสาสมัครนักข่าวพลเมืองลุ่มน้ำเซิน
อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
ที่มาของเนื้อหา และติดตามเรื่องราวอื่นๆที่น่าสนใจได้ใน http://www.sernbasinnews.com/