จันทราภา จินดาทอง
10 ตุลาคม 2554
นักเขียนประจำ Stateless Watch Review (www.statelesswatch.org)
_____________________________________________________________________________
“…ขอบฟ้าแม้จะคนละฟาก ห่างไกลกันมากแต่ก็ฟ้าเดียวกัน รักข้ามขอบฟ้า ข้ามมาผูกพัน ผูกใจรักมั่น สองดวงให้เป็นดวงเดียว” เนื้อหาของบทเพลงรักข้ามขอบฟ้า แม้จะเป็นเพลงเก่าแต่ยังคงใช้ได้กับทุกยุคสมัย หลายคนฟังเพียงผ่าน ๆ แล้วรู้สึกว่าไพเราะ ขณะที่หลายคนดื่มด่ำกับเพลงนี้อย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกับ มีชอ
มีชอ (MI CHAW) หญิงผู้มีมารดาเป็นชาวมอญและบิดาเป็นชาวกะเหรี่ยง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 7 คน วันเดือนปีเกิดในเอกสารของ UNHCR คือวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2528 ปัจจุบันมีชออายุ 26 ปี เธอเกิดที่ประเทศพม่าแต่ไม่ทราบหมู่บ้านหรือเมืองที่เกิด ตั้งแต่จำความได้ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง อพยพหนีภัยสงครามเรื่อย ๆ มีชอไม่เคยเจอทหารพม่า พอได้ยินข่าวว่าจะมีทหารมา ก็จะย้ายหนีทุก 1-2 ปี
ประมาณปี 2540 มีชอเดินทางเข้ามาประเทศไทยพร้อมพี่สาว-น้องสาว รวม 4 คน โดยน่าจะเดินทางเข้ามาทางบ้านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง รอนแรมมาตามป่า และพักอยู่ที่บ้านกุยต๊ะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง 1 คืน จากนั้นมีคนมารับพาไปที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบนุโพหรือ แคมป์นุโพ ครอบครัวของมีชอไม่มีญาติพี่น้องอยู่ประเทศไทยมาก่อน เธออยู่ที่แคมป์นุโพได้ 1 ปี พ่อ แม่และน้องอีก 3 คนก็ตามมาอยู่ด้วย โดยอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 9 section 9
ปี 2541 ได้มีการทำบัตรประจำตัว (UN-card) ให้กับผู้หนีภัยการสู้รบภายในแคมป์นุโพ มีชอและครอบครัวได้อาศัยอยู่ที่แคมป์นุโพเรื่อยมาไม่ได้เดินทางกลับพม่าอีก เลย
ขณะอยู่ที่แคมป์นุโพ มีชอได้เข้าเรียนที่โรงเรียนภายในแคมป์ และพบกับวุฒิกร กานดา หรือก่ำ ชายสัญชาติไทยที่เข้าไปรับจ้างทำหน้าที่ครูสอนหนังสือ ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นความรัก
จนกระทั่งต้นปี 2551 มีชอและครอบครัวได้ยื่นคำร้องขอไปประเทศที่สามต่อ UNHCR และในเดือนเมษายนจึงได้เข้ารับการสัมภาษณ์กับ Oversea Processing Entity (OPE) องค์การระหว่างประเทศที่ดูแลเรื่องการคัดเลือกผู้หนีภัยการสู้รบฯเดินทางไป ประเทศที่สาม[1] จนในที่สุดได้รับอนุมัติและได้เดินทางไปประเทศอเมริกาในวันที่ 24 มิถุนายน 2551 โดยพี่สาวคนโตได้เดินทางไปอยู่ก่อนแล้ว
มีชอและครอบครัวได้ไปอยู่ที่เมืองเซนต์พอลล์ รัฐมินิทโซต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ได้ประมาณ 1 เดือน มีชอก็ไปขอทำ social security card [2]และ ID card และเมื่ออาศัยอยู่ครบ 1 ปี เธอก็ได้รับ green card[3] ซึ่งเลขประจำตัวใน green card เป็นเลขเดียวกับ UN-card ตลอดเวลาที่เธอใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา มีชอติดต่อสื่อสารกับก่ำเป็นประจำในฐานะของคู่รัก
พฤษภาคม 2554 มีชอขอวีซ่าแบบนักท่องเที่ยว (Refugee travel) มาที่ประเทศไทย และอาศัยอยู่กับวุฒิกรที่บ้านของเขาในอำเภออุ้มผาง ทั้งคู่จัดพิธีมงคลสมรสในวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2554 ก่อนที่มีชอจะบินกลับเพราะวีซ่าของเธอจะหมดอายุในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 มีชอบอกว่า “หากเธออยู่ที่อเมริกาอีก 1 ปีครึ่งก็จะได้รับสิทธิเป็น American citizen หรือพลเมืองสหรัฐฯ
แต่ขณะนี้มีชอตั้งครรภ์ได้ประมาณ 2 เดือน เธอและก่ำกังวลเรื่องอนาคตของลูกน้อยและการก่อร่างสร้างครอบครัวให้ถูกต้อง ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ จึงปรึกษากับญาติคือ นางรัศมี กานดาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลอุ้มผาง
นางรัศมี นำเรื่องราวของมีชอเข้าหารือกับรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร ซึ่งกรุณาให้คำแนะนำ ดังนี้ “แนวคิดหลักในการจัดการสำหรับกรณีนี้ ก็คือ การรักษาสิทธิให้แก่มนุษย์ตัวน้อยที่กำลังเติบโตในครรภ์ของมีชอภายใต้กฎหมายของรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวทั้งสองรัฐที่สำคัญ กล่าวคือ รัฐไทยและรัฐอเมริกัน ซึ่งวิธีจัดการที่ควรทำภายใต้ 2 ปฏิบัติการ ก็คือ
สิ่ง แรกที่เราควรตะหนัก ก็คือ การรักษาสิทธิของบุตรของมีชอในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตบิดา ไม่ว่าเขาจะเกิดนอกหรือในประเทศไทย และไม่ว่าจะมีการสมรสตามกฎหมายระหว่างมีชอและวุฒิกรหรือไม่ แต่เพื่อมิให้การพิสูจน์สิทธินี้ยากลำบากเกินไป ก็ควรมีการทำให้การสมรสของมีชอและวุฒิกรเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายไทยซึ่งเป็น รัฐเจ้าของสัญชาติของวุฒิกรผู้เป็นบิดา หรือในกรณีที่การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยไม่อาจทำได้โดยเร็ววัน ก็ต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนว่า วุฒิกรก็คือบิดาตามข้อเท็จจริงของบุตรในครรภ์ของมีชอ ซึ่งการทำสมุดฝากครรภ์ของโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อการนี้ก็เป็นทางออกที่มั่นคง และชัดเจน และในกรณีที่บุตรคลอดในสหรัฐอเมริกา ก็ควรมีการจดทะเบียนการเกิดให้แก่บุตรต่อสถานกงสุลไทยประจำสหรัฐอเมริกาใน สถานะคนสัญชาติไทย ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ส่วนการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.14) ตามมาตรา 36 แห่งกฎหมายเดียวกัน อันนำไปสู่การมีบัตรประจำตัวคนสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.2526 จะทำเมื่อใดก็ได้
ในประการที่สอง เราคงต้องตระหนักว่า หากมีชอคลอดบุตรบนแผ่นดินของสหรัฐอเมริกา บุตรย่อมมีสิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยหลักดินแดน ดังนั้น การรีบเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาย่อมเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งมี ชอและบุตรในครรภ์ มีความเป็นไปได้ที่บุตรที่จะเกิดขึ้นอาจมีสถานะเป็นคนสัญชาติอเมริกันก่อน ที่มีชอจะได้สัญชาติอเมริกันโดยการแปลงสัญชาติ ในทิศทางนี้ สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นด้วยก็คือสิทธิในการเข้าเมืองอเมริกันของคุณวุฒิกรใน ขณะที่บุตรเกิดบนแผ่นดินอเมริกัน ดังนั้น การสมรสตามกฎหมายเอมริกันของมีชอและวุฒิกรจึงเป็นสิ่งที่ควรพยายามทำให้ได้ แต่ก็น่าเสียดายที่สถานกงสุลอเมริกันประจำประเทศไทยตอบว่า ไม่มีอำนาจดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้แก่บุคคลที่ยังไม่มีสถานะพลเมือง สัญชาติอเมริกัน ดังนั้น หากคุณวุฒิกรร้องขอวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาและได้รับการยอมรับ การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายอเมริกันก็อาจทำได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในกรณีที่คุณวุฒิกรไม่อาจตามมีชอไปสหรัฐอเมริกา การจดทะเบียนสมรสก็อาจทำได้อีกครั้งและคงไม่มีอุปสรรค หากเมื่อมีชอได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยการแปลงสัญชาติแล้ว และเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง การจดทะเบียนสมรสทั้งตามกฎหมายไทยและอเมริกันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอีกต่อไป
ขอให้ตระหนักว่า ภายใต้ปฏิบัติการทั้งสองทิศทาง สิทธิในการอยู่ร่วมกันฉันท์ครอบครัว (Right to family union) ของบุคคลทั้งสามก็อาจเป็นไปได้ทั้งในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อประเทศพม่าปรับทัศนคติต่อชนกลุ่มน้อยที่เกิดในประเทศพม่า ก็มีความเป็นไปได้ที่มีชอและบุตรในครรภ์จะได้รับรองสิทธิในสัญชาติพม่า” โอกาสของครอบครัวน้อยๆ นี้ก็อาจมีความเป็นไปได้อีกด้วยในประเทศพม่า แต่โอกาสที่สามนี้คงไม่เกิดขึ้นก่อน ค.ศ.2015 และอาจเกิดขึ้นล่าช้าไปกว่านั้นอีก ดังนั้น สถานการณ์ที่เป็นจริงของครอบครัวเล็กๆ นี้คงเป็นเรื่องที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยและรัฐอเมริกันเท่านั้น”
วุฒิกรและมีชอได้เดินทางไปแจ้งความประสงค์กับฝ่ายทะเบียน ที่ว่าการอำเภออุ้มผางว่าต้องการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทย อำเภออุ้มผางไม่ปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสของทั้งคู่ และขอให้ทั้งคู่ไปขอเอกสารจากสถานทูตอเมริกาเพื่อยืนยันว่า มีชอมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะสามารถจดทะเบียนสมรส คือ อายุ 20 ปีขึ้นไป มีอาชีพการงานในอเมริกาและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน
มีชอจึงประสานงานทางอีเมล์กับสถานกงสุลอเมริกาที่จังหวัดเชียงใหม่ในการ ขอเอกสารรับรองดังกล่าว คำตอบจากสถานกงสุลคือ “ปฏิเสธ” ทางสถานกงสุลไม่สามารถออกเอกสารรับรองใด ๆ ได้ เนื่องจากเธอยังไม่ได้มีสถานะเป็นพลเมืองสัญชาติอเมริกัน และมีคำแนะนำให้มีชอลองติดต่อกับสถานทูตประเทศพม่า เพราะสัญชาติที่ระบุในพาสปอร์ตของเธอคือ “พม่า”
ในส่วนของโรงพยาบาลอุ้มผาง ได้แนะนำให้มีชอและวุฒิกร เดินทางไปฝากครรภ์ในวันที่ 26 กันยายน 2554 โดยมีชอมีทะเบียนผุ้ป่วย (Hospital Number) 57659 ในสมุดฝากครรภ์ของมีชอ ระบุบิดาของเด็กคือ นายวุฒิกร กานดา ซึ่งเป็นเอกสารของทางราชการชิ้นแรกที่ยืนยันความสัมพันธ์ของครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวนี้
ในวันนี้ มีชอวางแผนจะกลับไปให้กำเนิดบุตรที่ประเทศอเมริกา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในขณะที่ลูกน้อยของเธอกำลังจะคลอด วุฒิกรจะสามารถเดินทางเข้าไปอยู่ร่วมเป็นกำลังใจให้การคลอดดำเนินไปอย่างราบ รื่น ปลอดภัยทั้งแม่และลูก จากนั้นเมื่อปฏิบัติตามกระบวนการอย่างเคร่งครัด เธอและลูกจะมีสัญชาติอเมริกัน และจะเดินทางกลับมาประเทศไทยเพื่อจดทะเบียนสมรสกับสามีของเธอในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การได้สร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ในอนาคต
____________________________________________________________________________
[1] ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อองค์การเป็น Resettlement Support Center (RSC)
[2] คล้ายกับประกันสังคมของไทย และเป็นหมายเลขที่สำคัญที่สุดสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องมีเพื่อที่จะเปิดบัญชีธนาคาร ได้รับบัตรเครดิต ได้รับใบอนุญาตขับรถ, ซื้อรถ, รับการประกันสุขภาพในประเทศและเปิดใช้บัญชีเพื่อการเกษียณ นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการการจ้างงานและสำหรับการ กรอกแบบแสดงรายการภาษี
[3] คนถือกรีนการ์ดจะได้รับสิทธิมีถิ่นที่อยู่ถาวร มีสิทธิเท่ากับชาวเมริกายกเว้นมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ต้องถือกรีนการ์ดอย่างน้อย 5 ปีจึงจะขอสอบเป็น citizen ได้