เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.) รวมพลังผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นจริง 15 จังหวัดภาคเหนือพัฒนาข้อเสนอรูปธรรมในพื้นที่ ออกแถลงการณ์ปักหมุด 24 มิถุนายน “หนึ่งล้านรายชื่อเปลี่ยนประเทศไทย” เพื่อเสนอ (ร่าง) พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเองพร้อมกันทั่วประเทศ ยันพร้อมทำงานร่วมกับทุกพรรคการมือง ขอรัฐบาลทุกรัฐบาลเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจและ จริงใจในการปฏิรูป
กลุ่มภาคประชาชนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.) ร่วมกันจัดเวที รวมพลังปฏิรูปประเทศไทยให้จังหวัดปกครองตนเอง 15 จังหวัดภาคเหนือ ขึ้นที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 7 เมษายน 2557 โดยระบุว่าจะเป็นเวทีที่แสดงจุดยืนในการปฏิรูปประเทศไทยพร้อมเสนอข้อเสนอในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็นของภาคเหนือ ที่สำคัญมีรูปธรรมของการปฏิรูปโครงสร้างผ่านกลไกกฎหมายและเสนอต่อพรรคการเมือง
โดย คชสป. นำโดยนายสวิง ตันอุด นางฑิฆัมพร กองสอน นายสมศักดิ์ คำทองคง นางมุกดา อินต๊ะสาร นำเสนอถึง ข้อเสนอของทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยคือภายใต้การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นจากฐานล่าง มีเป้าหมาย คือ การปฏิรูปโครงสร้างลดอำนาจรัฐกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น มีอำนาจจัดการตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมุ่งเสนอต่อพรรคการเมืองทุกพรรค กลุ่มพลังทางการเมืองทุกกลุ่มและสาธารณะชน และพร้อมจะทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย
ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูปยังได้อ่านแถลงการณ์ เรื่อง การปฏิรูปประเทศไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างผ่านกฏหมายจังหวัดปกครองตนเอง สาระสำคัญของข้อเสนอดังกล่าวคือ
1.การปฏิรูปประเทศไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการเมือง ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง คืนอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเอง ในลักษณะจังหวัดปกครองตนเอง มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มีสภาท้องถิ่นและสภาพลเมือง ในทุกจังหวัด
2. คชสป. ภาคเหนือ จะร่วมสนับสนุนและผลักดัน (ร่าง) พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและเครือข่ายฯ ให้ประกาศใช้โดยเร็ว
3. ผลักดันกฎหมายภาคประชาชนในการปฏิรูปประเทศไทยด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และการเมืองให้สำเร็จบรรลุเช่น พรบ.สิทธิชุมชน พรบ.ธนาคารที่ดิน พรบ.ภาษีที่ดินอัตรก้าวหน้า พรบ.กองทุนยุติธรรม พรบ.สวัสดิการชุมชน พรบ. ประกันสังคม พรบ.องค์การอิสระผู้บริโภค พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณะสุข และ พรบ.เชียงใหม่มหานคร เป็นต้น
4. คชสป. ภาคเหนือ จะร่วมกันสานพลังภาคีทุกภาคส่วนในทุกพื้นที่ทุกจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยอย่างเป็นขบวนการและต่อเนื่อง
5. ในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 คชสป.ภาคเหนือ และภาคีจะร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมเคลื่อนไหวปักธง “หนึ่งล้านรายชื่อเปลี่ยนประเทศไทย” เพื่อเสนอ (ร่าง) พรบ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเองพร้อมกัน ทุกจังหวัดภาคเหนือ และประเทศ
6. เรียกร้องให้รัฐบาลทุกรัฐบาลดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย อย่างจริงจัง ด้วยความจริงใจ โดยให้ถือเป็นวาระแห่งชาติ สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะต้องมีส่วนร่วมจากภาคองค์กรชุมชนและประชาสังคมที่ชัดเจน และก้าวข้ามการนำประเด็นนี้ไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อตนเองและพวกพ้อง
งานดังกล่าวผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนเชิงพื้นที่มีการนำเสนอ ข้อเสนอเชิงพื้นที่ 15 จังหวัดและข้อเสนอเชิงประเด็น รวมถึงภาพรวมของข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทยภาคเหนือ และมีช่วงของการพัฒนาขอเสนอและความร่วมมือในการขับเคลื่อนและปฏิรูปร่วมกับ คชสป.ภาคเหนือ โดยตัวแทนหลายองค์กรเช่น นายเสน่ห์ วิชัยวษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแก่งชาติ นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
จากนั้นในช่วงบ่าย ภาคีเครือข่าย คชสป.ภาคเหนือ มีการเคลื่อนขบวนการรณรงค์ การปฏิรูปประเทศไทย ของ คชสป. ภาคเหนือ ไปที่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ประกอบพิธีสักการะ อนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ กล่าวคำปฏิญาณ ต่อการปฏิรูปประเทศไทยโดยการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเอง 15 จังหวัดภาคเหนือ มีการแถลงข่าวข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศไทย 15 จังหวัดภาคเหนือ และยื่นข้อเสนอต่อพรรคการเมือง.
อนึ่ง กลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป (คชสป.) ประกอบไปด้วยคณะทำงานภาคประชาชนที่ทำงานพัฒนาชุมชนฐานรากมานานกว่า ๓๐ ปี กระจายทั่วประเทศกว่า ๑๕,๗๗๒ องค์กร เช่น สภาองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนักธุรกิจ เครือข่ายการทำงานด้านการจัดการทรัพยากร คนชายขอบ ฯลฯ จึงได้เปิดตัวและประกาศข้อเสนอของเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๗ เป็นครั้งแรก ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมีสาระสำคัญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางสังคม เน้นการกระจายจากรัฐสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ทั้งนี้เครือข่ายไม่ต้องการอิงกับขั้วการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากว่าต้องการนำเสนอต่อทุกฝ่ายเพื่อให้หันมาแก้ไขปัญหาสังคมที่ต้นเหตุอย่างจริงจัง
ตีกะโล้ก..การเคาะกระบอกไม้ไผ่เพื่อส่งสัณญานให้คนเหนือมาช่วยกันทำอะไรที่สำคัญเพื่อชุมชนด้วยกัน วันนี้วิกฤติประเทศเกิดขึ้นจากการรวมศูนย์อำนาจ เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป 15 จังหวัดภาคเหนือ ตีกะโล้กพร้อมกัน…ได้เวลากระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองตนเอง ปักหมุด 24 มิถุนายน ล้านรายชื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหนุน พ.ร.บ.จังหวัดปกครองตนเอง
ข้อมูลประกอบ
ข้อเสนอภาคเหนือเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป(คชสป.) ภาคเหนือ จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เดินหน้าปฏิรูป เริ่มทันที ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
วิกฤติประเทศไทย
เกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบแล้วรอบเล่า ปี ๑๖/๑๙/๓๕/๔๙/๕๓/๕๗
เกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร หลายครั้ง ประเทศไทยที รัฐธรรมนูญถึง ๑๘ ฉบับ
มีการประท้วงไม่ต่ำกว่า ๗,๐๐๐ ครั้ง
เกิดการคอรัปชั่นมากมาย โดยเฉพาะโครงการของรัฐ
เกิดธุรกิจการเมือง การรวบอำนาจโดยคนไม่กี่คน ซื้อประเทศได้
เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
เกิดความเหลือมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร “รวยกระจุก จนกระจาย”
เป้าหมายของการปฏิรูปประเทศไทย
๑.) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้กับคนทุกกลุ่ม
๒.) เพื่อหยุดยั้งความเสียหายและผลกระทบทางด้านต่างๆ ต่อชุมชน สังคมและทรัพยากรธรรมชาติ อันเกิดจากการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์อำนาจที่มีมานานกว่าร้อยปี
๓.) เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจในการกำหนดอนาคตและจัดการตนเองด้านต่างๆ
๔.) เพื่อให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการใช้อำนาจทางการเมืองในทุกระดับ
๕.) เพื่อลดความขัดแย้ง การแบ่งขั้ว การแบ่งพวก เพราะจังหวัดเป็นของทุกคน ที่สามารถเข้าร่วมบริหารจัดการได้ด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ และองค์กรปกครองของตนเอง
หลักการ
๑.) การปฏิรูปในทุกเรื่องต้องเป็นไปเพื่อ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ให้ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๒.) ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ที่จะมีผลต่อเนื่องยาวนานทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป
ปฏิรูปการเมือง การปกครองออกกฎหมาย จังหวัดปกครองตนเอง
๑.) กระจายอำนาจ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยที่ยังมีองค์กรปกครองส่วน
ท้องถิ่นที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด (ยกเว้นอบจ.) สัดส่วนสมาชิกให้มีหญิง-ชายจำนวนที่เท่ากัน
๒.) ให้มี “สภาพลเมือง” หรือ สภาที่ใช้ชื่ออย่างอื่นที่มีที่มาจากบุคคลสาขาอาชีพต่างๆ ทำงานกำกับดูแล ถ่วงดุลการใช้อำนาจและกำหนดทิศทางการพัฒนาและการบริหารของจังหวัด
๓.) ให้จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการเก็บภาษีและจัดแบ่งรายได้ไว้สำหรับการพัฒนาจังหวัดไม่น้อย
กว่าร้อยละ ๗๐ และมีกฎหมายบังคับให้ธุรกิจต่างๆในจังหวัดเสียภาษีที่จังหวัด ไม่ใช่ส่วนกลาง
๔.) ให้จังหวัดและ/หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับ ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจออก
ข้อบัญญัติในท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการท้องถิ่นในทุกมิติ ในขอบเขตที่มากกว่าปัจจุบัน
๕.) ประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าชื่อกันถอดถอนผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงในจังหวัดที่ประพฤติมิชอบได้
๖.) จำกัดวาระการอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองของผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจทางการเมือง
๗.) จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องร่วมกับประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นที่มีระยะเวลาอย่างน้อยสามปี และกำหนดแผนนั้นเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ แบบมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม
๑.) ให้มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมธุรกิจที่ดำเนินการโดยคนท้องถิ่น ป้องกันไม่ให้ธุรกิจท้องถิ่นถูกทำลายโดยธุรกิจขนาดใหญ่จากภายนอก
๒.) มีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ผลิตอาหาร ไม่ให้ถูกทำลายโดยการขยายตัวของเมืองหรืออุตสาหกรรม ให้มีกฎหมายคุ้มครองพันธุกรรมท้องถิ่นทั้งพืชและสัตว์ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน
๓.) มีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม
๔.) มีกฎหมายประกันรายได้ของเกษตรกรและแรงงานนอกระบบ
๕.) ให้มีกฎหมายเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าและกฎหมายธนาคารที่ดินเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและประชาชนมีที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย
๖.) ให้มีกฎหมายรองรับการจัดการที่ดินและป่าโดยองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ยกเลิกกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดินในปัจจุบันซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ
๗.) ให้มีแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นทุกประเภท เช่น ป่าไม้ ที่ดิน แม่น้ำ ทะเลชายฝั่ง แร่ธาตุ ฯลฯ โดยแผนดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นและสภาพลเมือง
๘.) มีมาตรการจัดเก็บภาษีจากปลายน้ำเพื่อบำรุงป่าต้นน้ำ
๙.) มีมาตรการทางกฎหมายห้ามมิให้มีการยึดครองหรือผูกขาดการใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ
๑๐.) ให้จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการการใช้พลังงานในท้องถิ่นให้ความยั่งยืน คนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
๑๑.) จังหวัดและชุมชนมีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาต การให้สัมปทาน ค่าตอบแทน กำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานและ แร่ธาตุต่างๆที่มีอยู่ในท้องถิ่น
ปฏิรูปสังคม บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่เคารพศักดิ์ศรีพลเมือง
๑.) ให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน สามารถจัดสรรที่ดินของรัฐที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานต่างๆเพื่อแก้ปัญหานี้ได้
๒.) ให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษาที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของ
ท้องถิ่น ซึ่งรวมทั้งการให้มีการสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆในท้องถิ่น การมีคณะกรรมการหลักสูตรท้องถิ่น การมีทุนการศึกษาให้คนท้องถิ่นที่จะกลับมาทำงาน ฯลฯ
๓.) จังหวัดจัดระบบประกันการเข้าถึงการศึกษา เรียนฟรีถึงปริญญาตรี การปรับปรุงระบบกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกติดกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) โดยจังหวัดบริหารจัดการงบเองในพื้นที่
๔.) ให้มีกฎหมายสวัสดิการชุมชน ซึ่งมีสาระสำคัญว่า ชุมชนสามารถจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบลได้ โดยให้สมาชิกสมทบกองทุนและให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสมทบกองทุนเป็นรายปีตามจำนวนสมาชิก
๕.) ให้จังหวัดและอปท.มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการการบริการสุขภาพในระดับตำบล เมืองและจังหวัด
๖.) ให้จังหวัดและอปท.มีอำนาจจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่โดยใช้ระบบภาษี ยุบรวมระบบหลักประกันสุขภาพให้มีระบบเดียว คุณภาพมาตรฐานเดียว
๗.) จังหวัดจัดระบบบำนาญประชาชนขั้นพื้นฐานโดยเสมอภาคสำหรับพลเมือง
๘.) จังหวัดจัดระบบการออมเพื่อชราภาพ
๙.) จังหวัดจัดสวัสดิการรายได้ คูปองอาหาร สำหรับคนที่มีภาระเลี้ยงดูครอบครัวตามลำพัง คนที่มีรายได้ไม่ถึงรายได้ขั้นต่ำ
๑๐.)ให้จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ธุรกิจและเครือข่ายองค์กรชุมชนมีสิทธิในการใช้คลื่นวิทยุและ
โทรทัศน์เพื่อการศึกษาและการสื่อสารของคนในท้องถิ่นทั้งในระดับเมือง ตำบลและจังหวัด โดยกสทช.สนับสนุนการดำเนินการของสื่อของรัฐและชุมชนดังกล่าวจากรายได้ของกสทช.
๑๑.)จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรมให้กับ
ชุมชนทั่วทั้งจังหวัด
๑๒.) ให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนการทำงานขององค์กรชุมชน
และองค์กรอาสาสมัคร องค์กรประชาสังคม โดยมีกฎหมายรองรับการสนับสนุนดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายการเมือง
๑๓.) กฎหมาย ข้อบัญญัติท้องถิ่น มาตรการ แผนพัฒนาต่างๆที่ดำเนินการโดยจังหวัดและองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในท้องถิ่น
เดินหน้า ผลักดันกฎหมาย “จังหวัดปกครองตนเอง”
7 เมษา 57 รวมพลังเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป(คชสป)ภาคเหนือ 15 จังหวัด เพื่อยื่นร่าง พรบ.จังหวัดปกครองตนเอง ให้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ต่อหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ผู้สถาปนาเมืองเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนา
เมษา-มิถุนา 57 คชสป.แต่ละจังหวัด ยื่น ร่าง พรบ.จังหวัดปกครองตนเอง ให้กับ สส. สว. ในจังหวัดตนเอง รณรงค์ “ปฏิรูปประเทศ ให้จังหวัดปกครองตนเอง” สร้างความเข้าใจในเครือข่าย ประชาชนทั่วไป การจัดเวทีสื่อสารสาธารณะให้ความรู้ความเข้าใจ
24 มิถุนา 57 รวมพล คชสป. ทั่วประเทศ เสนอกฎหมาย จังหวัดปกครองตนเอง ให้รัฐบาล รัฐสภา และองค์กรเคลื่อนไหวทางสังคมทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย