รายงานโดย: เดชา คำเบ้าเมือง
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.58 เวลาตั้งแต่ 09.00 น.- 15.00 น. ณ วัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีแลกเปลี่ยนปัญหาเศรษฐกิจและสุขภาวะชุมชน: ทางเลือกทางรอดในอนาคต
ภายใต้โครงการสานพลังสังคมเครือข่ายนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมและปัญหาสุขภาวะภาคอีสาน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมจำนวนกว่า 30 คน
ฐากูร สรวงศ์สิริ นักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการจัดต่อเนื่องจากการถอดบทเรียนของกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ทำให้เราพบว่าปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือนและสุขภาวะเป็นปัญหาสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ ชุมชนจึงเล็งเห็นความสำคัญร่วมกันก็เลยนำมาสู่การเก็บข้อมูลเศรษฐกิจและสุขภาวะชุมชน หลังจากได้ข้อมูลและนำไปวิเคราะห์ตามหลักวิชาการ วันนี้ทางทีมวิจัยจึงนำข้อมูลกลับมาแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในพื้นที่
“ปัญหาของชาวบ้านทุกวันนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะต้องลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสุขภาวะ ทั้งนี้ โครงการนี้จะเกิดการแก้ไขปัญหาในระดับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างกลไกการเสริมสร้างเศรษฐกิจและสุขภาพชุมชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อบต. และผู้นำภายในชุมชน เป็นต้น” ฐากูรกล่าว
ด้านสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการสำรวจเศรษฐกิจครัวเรือนของชุมชนในปัจจุบัน ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่ารายจ่ายของชุมชนที่สำคัญ คือค่าอาหารเกือบ 5,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน รองลงมาคือค่าเล่าเรียนบุตร 2,000 กว่าบาท อันดับสามคือค่าชำระหนี้สิน และค่าผ่อนรถ ตามมา ซึ่งมันทำให้เห็นว่าสมัยก่อนชุมชนอีสานสามารถพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้ แต่ทุกวันนี้ต้องพึ่งพาภายนอกเกือบ 80% เช่น หมู่ ไก่ ไข่ และผัก และเกิดโรคภัยมากมายจากการบริโภค
“เราจะต้องหันมาสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนจากสิ่งเหล่านี้ได้ และจะทำให้มีสุขภาวะที่ดีตามมาด้วย นี่คือสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ และทำงานร่วมกันในอนาคต เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน”
สันติภาพ ยังกล่าวต่อว่า “เรื่องเหมืองแร่โปแตชจะเกิดหรือไม่เกิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะห้ามชาวบ้านไม่ให้สู้ก็ไม่ได้เพราะมันเป็นวิถีชีวิตของเขา ขณะเดียวกันชาวบ้านจะต่อสู้อย่างเดียวโดยไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจเรื่องปากท้องมันก็ไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ถ้าชุมชนมีความเข้มแข็ง มีรายได้ที่มั่นคง มีเศรษฐกิจและสุขภาวะที่ดี มันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำไปสู่การพัฒนาอะไรที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ”
ส่วน บุญเลี้ยง โยทะกา ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านในพื้นที่จะทำการเกษตรเป็นหลัก แต่พบว่าปัญหาในปัจจุบันของชาวบ้าน คือ การบริโภคและมักวิ่งตามตลาด เช่น เห็นเขาปลูกอ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์ม ฯลฯ ก็แห่ทำตามกันไป ขณะเดียวกันก็มีการจ้างแรงงาน ใช้เครื่องจักรกล ใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง เพิ่มมากขึ้น แต่พอเอาไปขายกลับขาดทุน และมีโรคภัยไข้เจ็บตามมาอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน และปัญหาต่อสุขภาวะของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก
“โครงการนี้จะเกิดประโยชน์แก่ชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เราได้หันกลับมามอง และสำรวจตัวเองมากขึ้น จนเห็นได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือนและสุขภาพกลับเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัว คือเรื่องปากท้อง อาหารการกิน ดังนั้นพวกเราควรรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมีทีมนักวิชาการคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา”