นักวิชาการด้านยา เตือน พณ.เลิกขวางกลไกควบคุมราคายา

นักวิชาการด้านยา เตือน พณ.เลิกขวางกลไกควบคุมราคายา

20150903195431.jpg

9 มี.ค. 2558 องค์กรวิชาการด้านยา สุขภาพ คุ้มครองผู้บริโภค และวิชาชีพเภสัช 12 องค์กร ร่วมจัดการประชุมวิชาการว่าด้วย ‘การปฏิรูประบบยา’ วิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.ยาที่จนถึงขณะนี้ยังไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปี กลุ่มศึกษาปัญหายา การประชุม ครั้งที่ 1 : การปฏิรูประบบกฎหมายยาเพื่อคุ้มครองประชาชน ณ เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ระบุว่า ขณะนี้มีความพยายามขัดขวาง ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ สธ.แก้ไขจากฉบับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งที่ร่างนี้ สธ.ได้หารือและแก้ปัญหาเรื่องนิยามยา และผู้ประกอบวิชาชีพที่สามารถสั่งจ่ายยาได้แล้ว แต่พบว่า ถูกกระทรวงพาณิชย์ขัดขวางโดยใช้ความเห็นของบรรษัทยาข้ามชาติเพื่อตัดการยื่นแสดงโครงสร้างราคายาในการยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับ

“พณ.อ้างว่า กรมการค้าภายในควบคุมราคายาอยู่แล้วตามกฎหมาย แต่ที่จริงกรมการค้าภายในทำเพียงการควบคุมไม่ให้จำหน่ายเกินราคาที่ระบุโดยผู้ผลิตเท่านั้น ทำให้ตัวเลขงานวิจัยพบว่า คนไทยบริโภคยามากกว่า 140,000 ล้านบาท รพ.รัฐซื้อยาต้นแบบในราคาแพงกว่าราคายาอ้างอิงสากลถึง 3.3 เท่า ขณะที่ซื้อยาสามัญในราคาแพงกว่า 1.46 เท่า ส่งผลต่อคุณภาพการรักษาและเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างมาก พณ.ไม่ทำหน้าที่แต่กลับขัดขวางกลไกที่จะควบคุมราคายา”
 
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์คัดค้านเรื่องยื่นแสดงโครงสร้างราคายาเมื่อขึ้นทะเบียนยานั้น เป็นการสนับสนุนทุนข้ามชาติให้อยู่เหนืออำนาจรัฐ
 
“ข้ออ้างของ พณ.ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง จะกระทบต่อนโยบายเมดิคัลฮับหรือเกรงกระทบการค้าการลงทุนนั้น จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าใครจะได้รับประโยชน์ในกรณีนี้ ทำให้เห็นว่า พณ.ไม่ได้ออกกฎหมาย-บังคับใช้กฎหมายที่วางอยู่บนหลักนิติรัฐและนิติธรรม แต่ความเห็นของ พณ.เป็นการทำให้ทุนข้ามชาติอยู่เหนือรัฐ ไม่ได้ทำให้กฎหมายเป็นที่พึ่งของประชาชน การค้า-การลงทุนต้องไม่เน้นเรื่องการเอาแต่ได้อย่างเดียว ต้องมีเรื่องสิทธิในชีวิตและความปลอดภัยของผู้บริโภค รัฐบาลพึงตระหนักว่า การปฏิรูปประเทศไทย คือการปฏิรูประบบราชการให้มีจิตสำนึกรับใช้ประชาชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม”
 
ทางด้าน รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ สปช. ในฐานะรองประธาน กมธ.สาธารณสุข และ รองประธาน กมธ. คุ้มครองผู้บริโภค ว่า ขอเรียกร้องให้ ครม. เร่งพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ยา เพราะเป็นส่วนที่สำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพ เนื่องจากยาถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบบริการสุขภาพ พ.ร.บ.ยา ที่ใช้อยู่ไม่ทันสมัยแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2510 แม้จะมีการปรับแก้เป็นระยะ แต่ก็ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่เทคโนโลยีและระบบสุขภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก 
 
“อยากให้มีกระบวนการพิจารณากฎหมายที่โปร่งใสชัดเจน เช่น ใช้แบบฟอร์มหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นบรรทัดฐานว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจยาทั้งทางตรงและทางอ้อมต้องไม่ มาเป็น กมธ.วิสามัญในการพิจารณากฎหมาย และสำหรับสาระใน ร่าง พ.ร.บ. ส่วนใหญ่ที่ตกลงกันได้แล้ว เช่น การแบ่งประเภทยา  การผลิตยาในสถานบริการ การจำหน่ายยา อำนาจหน้าที่ของวิชาชีพต่างๆ”

ในส่วนของข้อเสนอนั้น รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวว่า ให้มีโครงสร้างราคายา การควบคุมราคายา และข้อมูลสถานะสิทธิบัตรในตอนยื่นขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตนเห็นว่าสาระดังกล่าวถือเป็นความก้าวหน้าในกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งให้มีการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่กระบวนนิติบัญญัติ เพื่อให้ สนช. ได้พิจารณาโดยเร็ว ต้องไม่ยอมให้ภาคธุรกิจต่างชาติเข้ามาแทรกแซงหรือกดดัน เพราะเป็นเรื่องประโยชน์และอธิปไตยของไทย
 
นอกจากนี้ รศ.ดร.ดาราพร ถิระวัฒน์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นที่ขาดหายไปในร่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งควรเติมในช่วงการพิจารณาของ สนช. นั่นคือ การควบคุมการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณายา
 
“แม้จะมีเกณฑ์จริยธรรมควบคุมการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมแล้วก็ตาม แต่หากไม่มีการเขียนหลักในกฎหมายจะทำให้สาระของเกณฑ์ซึ่งมีความก้าวหน้ากว่า จะไม่สามารถปฏิบัติได้” 
 
อนึ่ง การประชุมวิชาการว่าด้วย ‘ปฏิรูประบบยา’ มีองค์กรร่วมจัดประกอบด้วย กลุ่มศึกษาปัญหายา แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัช จุฬาฯ มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา มูลนิธิเภสัชชนบท ชมรมเภสัชชนบท มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

May 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1

21 May 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ