นักข่าวพลเมืองเครือข่ายชาติพันธุ์ในพม่า โลกของการสื่อสารที่พรมแดนรัฐชาติไม่อาจขวางกั้น
แบบสำรวจความต้องการอบรมนักข่าวพลเมืองกองอยู่ตรงหน้า แทบทุกชิ้นเขียนเป็นภาษาอังกฤษยาวเฟื้อย คำตอบจริงจังมาก โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “นักข่าวพลเมืองคืออะไร” ทุกคำตอบอธิบายถึงความเข้าใจในบทบาทได้ชัดเสียยิ่งกว่าชัด
แม้จะหนักใจเรื่องการจะสื่อสารระหว่างกัน แต่เราไม่อาจละทิ้งโอกาสที่จะได้เรียนรู้และพบเจอกับพวกเขาได้เลย เหล่าเพื่อนๆ ชาติพันธุ์จากประเทศพม่า เพื่อนๆ ชาว ลาหู่ ปะโอ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ อาระกัน ฉิ่น มอญ และพม่า…. พวกเขาอยากจะร่วมอบรม “นักข่าวพลเมือง” กับทีวีไทย
มันมากกว่าจะได้ออกทีวี พวกเราสัมผัสได้ถึงพลังจากข้อเขียนที่พวกเขาสื่อสารมาในแบบสำรวจ
มันมากกว่าการจะได้ผลักดันประเด็นที่ตนเองจับหรือวิจัย แทบทุกคนบอกตรงกันว่า อยากจะให้คนไทยได้รับรู้และเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ ที่สุดเราก็เดินหน้าอบรมนักข่าวพลเมืองชาติพันธุ์ในพม่า วันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2553 ที่จังหวัดเชียงใหม่
ความเกร็งเกิดขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อพวกเราเริ่มแนะนำตัวยาวเฟื้อย แล้วผู้อบรมทำหน้าเหรอหรา
“เดี่ยวๆๆ ขอแปลก่อนคร๊าบบบ” พี่แสนพันธุ์ ผู้ประสานการอบรมกลุ่มนี้รีบบอก นับจากนั้นเสียงพูดภาษาไทใหญ่ ลาหู่ มอญ พม่า และอังกฤษก็เซ็งแซ่สลับกันไปมา ผู้เข้าร่วมอบรมจะใช้ภาษาพม่าเป็นหลักที่สื่อสารเข้าใจกัน มีสำเนียงที่ต่างกันไปบ้างเหมือนภาษาเหนือ ใต้ อิสานบ้านเรา แต่บางกลุ่มสมัครใจใช้ภาษาของตนเองเช่นไทใหญ่ บางกลุ่มเช่นชาวอาระกันถนัดในภาษาอังกฤษ ส่วนพวกเราใช้ภาษาไทยบ้าง อังกฤษบ้าง บางเวลาเมื่อเริ่มคุ้นเคยกัน น้องทีมงานจากอิสานก็ขอเว้าอิสานแลกเปลี่ยนบ้าง …เรื่องการหัดเปล่งสำเนียงภาษา เป็นเรื่องที่ฮากันได้ตลอด
3 วันที่อยู่ด้วยกันเราพูดคุยกับมากกว่า 4 ภาษา เราเขียน แปลบท และลงเสียงด้วยสารพัดภาษา ผ่านกันมาได้แล้วอย่างไม่น่าเชื่อ !
เมื่อเริ่มชินกับการพูดคุยกันด้วยภาษาที่แตกต่าง เราก็เริ่มสังเกตผู้ร่วมอบรมครั้งนี้ มีทั้งคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ คนวัยกลางคน ไปจนถึงผู้เฒ่าและมีผู้พิการด้วย เราขอให้ทุกคนได้ พูดคุย ซักถามในสิ่งที่อยากเรียนรู้และนำประสบการณ์ของตนเองออกมาแบ่งปันกับเพื่อนๆ ในเป้าหมายเดียวกันคือหาวิธีสื่อสารสิ่งที่อยากจะบอกร่วมกัน ทุกทีมให้ความร่วมมือ บรรยากาศของการเติมเต็ม และติชมกันอย่างสร้างสรรค์ทำให้การอบรมที่เราหนักใจและคิดว่ายาก กลับกลายเป็นเรื่องง่าย สนุกสนาน และเต็มไปด้วยการต่อยอดเพื่องานที่งอกเงยอย่างน่าประทับใจ
เกมหาสิ่งของหรือวาดภาพแทนความหมาย “นักข่าวพลเมือง” ถูกนำมาท้าทายผู้ร่วมอบรมให้คิดถึงสิ่งที่จะอธิบายความคิด เกมนี้มีความหมายต่อการเริ่มต้นจะทำข่าวพลเมืองที่พวกเรานำมาใช้ทุกครั้ง การจะทำข่าวโทรทัศน์จะต้องคิดเป็นภาพ ต้องหารูปธรรมที่จะมาอธิบายความคิดของตนเองให้ได้
เพื่อนไทใหญ่คนหนึ่ง หยิบ “แจกันดอกไม้จากแป้งขนมปัง”บนโต๊ะมาอธิบาย
“นักข่าวพลเมืองสำหรับผม เหมือนดอกไม้นี้ มันถูกทำขึ้นมาจากคนในชุมชน มันเป็นสิ่งสวยงาม น่าภาคภูมิใจที่นำมาโชว์ได้บนโต๊ะ”
ทุกสายตามองและนิ่งคิด แล้วนักข่าวพลเมืองของแต่ละคนจะแทนนิยามที่ตัวเองคิดด้วยสิ่งของหรือภาพอะไร พวกเราให้เพื่อนๆ ได้แบ่งกลุ่มคละชาติพันธุ์กันเพื่อแลกเปลี่ยนกันพอหอมปากหอมคอ จากนั้นให้โจทย์ที่ชวนปวดหัวเพิ่มขึ้นไปอีกคือ
“ให้ทุกคนได้รวมความหมายของนักข่าวพลเมืองของเพื่อนทุกคนให้กลายเป็นภาพๆ เดียวที่ทุกสิ่งจะต้องอยู่รวมกันให้ได้”
เสียงเซ็งแซ่ของสารพัดภาษาดังทั่วห้อง บางคนทำท่างง ไม่ต้องงง เราต้องรวมความคิดของทุกคนเข้ามาเป็นภาพเดียว นั่นคือหัวใจของความเป็นสาธารณะ ที่สุดทุกภาพปรากฏขึ้นมา ทยอยออกมาเล่าความคิดของทุกทีมให้เพื่อนได้เรียนรู้ความหมายของความเป็นนักข่าวพลเมือง ที่สำคัญ เราให้ทุกทีมได้ตั้งชื่อภาพเป็นภาษาไทย เพื่อสื่อสารกับคนไทยด้วย
ทีมนี้ ประกอบทุกความคิดของเพื่อนในทีม ได้ภาพจำลองเหตุการณ์ที่เกิดในชุมชนว่านักข่าวพลเมืองคือคนในชุมชนที่เห็นเรื่องราวอยู่มีหน้าที่ต้องสื่อเหตุการณ์ออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นเรื่องฉุกเฉินเกี่ยวกับชีวิต เรื่องเล็กๆ น่าสนใจ (แทนด้วยภาพตุ๊กแกที่เกาะต้นไม้) สื่อที่ใช้มีหลากหลายเช่นเว็บไซด์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือปากต่อปาก โดยการสื่อสารของนักข่าวพลเมืองเปรียบเสมือน “แสงสะท้อน” เขาตั้งชื่อภาพนี้ว่า “แสงสะท้อน” และแทนแสงด้วยภาพพระอาทิตย์ แต่แสงนั้นอาจถูกเมฆบดบังแต่หากได้ทำงานเชื่อมโยงกันกับสื่อใหญ่ เช่นทีวีไทย ก็จะทำให้เรื่องในชุมชนเปิดกว้างขยายขึ้นได้ พวกเขาแทนความคิดนี้ด้วยภาพกลุ่มก้อนสีส้มที่มีสะพานเชื่อมด้วยด้านบนภาพ
ทีมนี้ ให้ชื่อภาพเป็นภาษาไทยว่า “หมู่บ้านอิสรภาพ” แล้วเกี่ยวอะไรกับความหมายของนักข่าวพลเมือง ? พวกเขาอธิบายว่า นักข่าวพลเมืองคือคนในชุมชน ที่จะทำหน้าที่สื่อสารและบอกสิ่งที่อยากจะให้เกิดในความคิดของคนในชุมชนด้วย อย่างภาพนี้ทุกคนคิดตรงกันที่อยากให้ชุมชนมีอิสรภาพ มีวิถีชีวิตดั้งเดิม นกที่โบยบินอยู่ด้านบนหมายถึงการสื่อสาร ภาพวงกลม วงรีที่อยู่เหนือตัวนกนั้น เพื่อนๆ ทายว่าเป็นก้อนเมฆ แต่ไม่ใช่ทีมนี้หมายถึง ความคิด สิ่งที่นกนักข่าวพลเมืองต้องการจะบอก ต้องการจะพูดและสื่อสารต่างหาก
ทีมนี้ เข้าใจภาษาไทยค่อนข้างลึกซึ้ง และเชื่อมกับภาษาไทใหญ่ด้วยคำพ้องเสียง ชื่อภาพชื่อว่า “แจ้งให้ทราบ” อธิบายความหมายว่า นักข่าวพลเมืองพวกเขาเป็นคนในชุมชนเอง เปรียบเหมือนไก่ หรือนก ที่จะคอยส่งเสียง บอกเรื่องราวต่างๆ ให้คนในชุมชนให้ได้รับรู้ และคำว่า “แจ้ง” ในภาษาไทใหญ่หมายถึงยามเช้า นักข่าวพลเมืองจะส่งเสียงปลุกให้ทุกคนได้ตื่น ให้รู้แจ้งว่าถึงยามเช้าเป็นเวลาที่ต้อง “ลุกตื่น” แล้ว
พวกเราช่วยกันสรุปนิยามของ “นักข่าวพลเมือง”ด้วยกันคือ
เวลา 3 วัน 2 คืนน้อยนิดนักต่อการฝึกปรือเพื่อทำข่าวทั้งเชิงประเด็นและเทคนิค ทุกๆ ครั้ง ผู้ร่วมอบรมจึงต้องเตรียมการล่วงหน้าทั้งการเตรียมประเด็น เตรียมภาพที่เกี่ยวกับเรื่องที่อยากบอกมาก่อน ซึ่งสำหรับชนกลุ่มน้อยแล้วการจะมีภาพให้ตรงกับประเด็นที่เขาอยากบอกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กล้องถ่ายภาพเป็นอุปกรณ์อันตรายในหลายพื้นที่ ภาพบางภาพอาจกลับมาทำร้ายตนเองหรือคนในชุมชนได้ แต่พวกเขาตั้งใจที่จะได้เตรียมประเด็น และเตรียมภาพที่อยากบอกมา ทุกคนดูจะตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้ในหลายๆ ประเด็นที่ไม่เคยรู้ และได้เห็นในหลายๆ ภาพที่ไม่เคยเห็น
เทคนิคการคิดเป็นภาพเพื่อสื่อเรื่องราว นำพวกเราไปเรียนรู้ประเด็นของเพื่อนๆ
ทีมเพื่อนชาวอาระกัน ซึ่งมาจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ติดชายแดนบังคลาเทศ วาดภาพวิถีชีวิตชาวอาระกันที่ขุดเจาะน้ำมันในชุมชน กระโจมสามเหลี่ยมเล็กๆ ตลอดแนวชายฝั่งและในหมู่บ้านคือวิถีการตักน้ำมันของคนที่นั่น เมื่อขุดน้ำมันได้ก็จะนำไปจำหน่ายให้กับคนในชุมชน แต่ไม่นานมานี้ รัฐบาลพม่าได้ร่วมการลงทุนกับรัฐบาลจุน สร้างโรงขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ของชุมชนแห่งนี้ เกิดการขับไล่คนในชุมชนเดิมออกไป ทำให้พวกเขาไม่มีที่อยู่ ไม่มีอาชีพต้องอพยพมาเป็นแรงงานตามอำเภอแม่สอด จ.ตาก และหลายพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย
เราคงจินตนาการไม่ออกเลยว่า การขุดน้ำมันแบบบ้านๆ ทำกันอย่างไร เพื่อนชาวอาระกันกลุ่มนี้มีคลิปภาพที่แอบถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลเมื่อ 5 ปีที่แล้วมามอบให้เรา เป็นภาพวิถีการตักน้ำมันอันแสนจะหายากของคนในที่นั่นซึ่งบัดนี้ไม่มีภาพเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว
นี่คือผลงานของทีม Shan Youth Power สิ่งที่เขาอยากบอกคือทำข่าวเรื่องการเลือกตั้งในประเทศพม่า มือ 4 มือ แทนโครงสร้างของสังคมพม่าที่มีทหาร อาวุธ ทุน และประชาชน ซึ่งต่างยังเป็นคำถามต่อที่มาของโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญพม่า พวกเขามองว่าการเลือกตั้งไม่มีความเป็นธรรม บ่งบอกด้วยภาพตราชั่งที่เอียงมาทางรัฐบาลทหาร ขณะที่ทางฝั่งประชาชนนั้น น้ำหนักเบาหวิว (ทีมนี้เพื่อพัฒนาเรื่องที่อยากบอกสู่การออกแบบเรื่องเล่าแล้ว ผลงานของทีมนี้ได้ออกอากาศเป็นทีมแรก โดยบอกผ่านเรื่องการเลือกตั้งกับชีวิตของลูกแรงงานชาวไทใหญ่คือเด็กชายสมคิด)
ทีมนี้อยากนำเสนอถึงสถานการณ์ที่ประเทศจีนได้รุกเข้ามาลงทุนในประเทศพม่ามากมาย (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) พวกเขาแทนภาพประเทศจีนด้วยมังกรและธงชาติ กำลังจะขะย้ำประเทศพม่าผ่านการลงทุนนานาประการ (กลุ่มนี้ที่สุดได้ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเสนอต่อเรื่องที่อยากบอกด้วยวิถีชีวิตของชาวยินตาเล ชนเผ่าที่เหลืออยู่ไม่ถึง 1,000 คน ที่อาจจะต้องสูญหายไปหากมีการลงทุนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพม่า
ทีมนี้อยากบอกให้รู้ว่า ได้มีการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้กับระหว่างรัฐบาลพม่ากับรัฐบาลไทย ไฟฟ้าที่ผลิตได้สร้างความเจริญในเขตเมืองของทั้งสองประเทศ แต่กลับไปสร้างในแหล่งทรัพยากรเขตรัฐฉาน ซึ่งยังมีการสู้รบ มีการทำลายทรัพยากร และคนที่นั่นกลับอยู่อย่างลำบากไม่มีแสงสว่างหรือไฟฟ้าใช้
นี่คือสิ่งที่ สำนักข่าวฉาน อยากจะบอกคือปัญหายาเสพติดในรัฐฉาน ที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อนมากมาย ภาพนี้อธิบายเหตุที่เกิดขึ้นในแนวชาวแดนไทย-พม่าได้อย่างลึกซึ้งโดยไม่ต้องบรรยายซ้ำ
เพื่อนชาวมอญเขียนภาพนี้เหมือนจะเป็นสตอรี่บอร์ดอย่างง่าย ภาพจากซ้ายมือสุดจะเห็นบ้านเรือนในประเทศพม่า มีต้นไม้สีเขียวอยู่เต็มทุกจุด มันไม่ใช่ประเด็นการอนุรักษ์ต้นไม้ แต่นั่นคือภาพตัวแทนของ “สบู่ดำ” ที่ชาวพม่าถูกบังคับให้ปลูกโดยไม่แจ้งเหตุผล บางพื้นที่เชื่อว่าปลูกเพื่อเสริมบารมี บางพื้นที่บอกว่าปลูกเพื่อเป็นพืชพลังงาน หากเขาเข้าไปในประเทศพม่าจะเห็นการปลูกต้นสบู่ดำนี้เต็มไปหมด แต่ปรากฏว่าในพม่าไม่มีใครเคยเห็นโรงงานแปรรูปสบู่ดำเป็นเชื้อเพลิง และต้นสบู่ดำยังนำมาซึ่งการต้องอพยพทิ้งบ้านเรือนของผู้ที่ไม่เห็นด้วย และปลายทางของการอพยพก็คือประเทศไทย
ยังมีอีกหลายประเด็นที่พวกเขาเตรียมมา เช่น ประเด็นผลกระทบของการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่เหล็ก ของกลุ่มเยาวชนปะโอ ที่พวกเขาบอกว่า การปราศจากกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทำให้สภาพแวดล้อม น้ำ อากาศ ในพื้นที่ทำเหมืองเลวร้ายมาก และลำน้ำที่ใกล้เคียงกับพื้นที่เหมืองถูกปล่อยส่งมายังที่ทะเลสาบอินเลชื่อดังของประเทศ
มีประเด็นชีวิตของชาวไทใหญ่ที่ต้องอพยพมาอยู่ทางตอนเหนือของไทย เพราะถูกกดดันจากการเปิดพื้นที่ลงทุนขนาดใหญ่ แต่พวกเขาไม่ได้อพยพเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ลักษณะหนีภัยสงคราม จึงไม่มีค่ายผู้ลี้ภัย แต่สถานของพวกเขาคือแรงงานข้ามชาติที่สังคมอาจมองว่าข้ามมาหางานทำเพื่อหารายได้เท่านั้น แต่ปัญหาการเมืองและการเปิดการลงทุนและไล่ที่อยู่ที่พวกเขาเผชิญ ยังไม่ได้รับการอธิบายมากนัก
ประเด็นต่างๆ หลั่งไหลออกมาให้เห็นว่ามีปรากฏการณ์อะไรที่นักข่าวพลเมืองอยากจะบอก แต่คำถามสำคัญคือว่า “คนดูอยากจะรู้มันหรือไม่” และ “ทำไม? คนดู (คนไทย) จะต้องรู้เรื่องเหล่านี้ด้วย?” เป็นคำถามที่โยนกลับไปให้ทุกคนได้คิด และค้นหาวิธีการนำเสนอที่จะเชื่อมโยงกับคนดูให้ได้
ชิ้นงานตัวอย่างของ “นักข่าวพลเมือง” หลายต่อหลายชิ้น ทยอยเปิดชมและช่วยกันวิเคราะห์ เราช่วยกันค้นหาวิธีการสื่อสารแบบนักข่าวพลเมือง พวกเขาต่อยอดสิ่งที่ได้เห็นและนำมาคิดในเรื่องของตนเองเพื่อออกแบบเรื่องเล่าได้อย่างรวดเร็ว แล้วเราก็เข้าสู่การทำโครงเรื่อง การทำบท หัดถ่ายภาพ และลงมือตัดต่อ
เทคนิคการสร้างโครงเรื่อง และการเขียนสคริปต์แบบง่ายๆ
ปรึกษาหารือ ออกแบบเรื่องเล่า
ขาตั้งกล้องอาจเป็นอันตรายในบางพื้นที่ นักข่าวพลเมืองต้องฝึกการถ่ายภาพให้นิ่งที่สุด
ลงเสียง และตัดต่อข้ามวัน ข้ามคืน เพื่อร่วมฉานงานให้เพื่อนๆ ได้ติชม
สคริปต์ที่เขียนมา ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยก่อนนำเสนอ
…..
พวกเขาใช้เวลา วันครึ่งที่เหลือในการออกแบบเรื่องเล่าของตัวเอง เขียนสคริปต์ ลงเสียงบรรยาย และตัดต่อภาพจากฟุทเทจที่เตรียมมากันอย่างขะมักเขม้น ข้ามวันข้ามคืน เพราะมีเป้าหมายเดียวกันคือ จะฉายงานทุกชิ้นชมและวิจารณ์เพื่อการปรับปรุงกันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งมีแขกรับเชิญคือ คุณแกรี และคุณพิพพา เจ้าหน้าที่จาก BURNA RELEACE CENTER มารอชม รวมทั้งมีนักข่าวมากประสบการณ์อย่าง วันดี สันติวุฒิเมธี บรรณาธิการนิตยสารสาละวินโพสต์ และภาสกร จำลองราช ผู้สื่อข่าวมือรางวัลจากค่ายมติชนมาร่วมคอมเม้นท์งาน
แววตาที่อิดโรยด้วยการอดนอนของแทบทุกคน ยังแฝงไว้ด้วยความตื่นเต้น ที่จะได้เห็นงานข่าวโทรทัศน์ที่ทำด้วยตนเอง ปรากฏขึ้นที่หน้าจอโปรเจ็กต์เตอร์ เราขอให้ทุกคนถอยออกจากการเป็น “คนทำ” มาเป็น “คนดู” มองชิ้นงานอย่างคนที่นั่งหน้าจอโทรทัศน์ และให้ข้อเสนอแนะงานของเพื่อนอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน
ด้วยใจที่เปิดกว้าง ยอมรับเสียงวิจารณ์ และการร่วมกันเติมมุมมองอย่างเต็มที่ ทำให้บรรยากาศของการเปิดชมงานและชี้ให้เห็นข้อดี ข้อด้อยของวงอบรมนี้ เป็นไปอย่างเข้มข้น ข้อวิจารณ์ตรง ชัดเจน จากนักข่าวมืออาชีพ ข้อวิจารณ์อย่างคนที่เรียนรู้การสื่อสารขึ้นมาแล้วของตัวเพื่อนนักข่าวพลเมืองเอง ทำให้การแลกเปลี่ยนเติมมุมมองของการชมงานก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมากมาย หลายชิ้น สร้างความทึ่งให้กับพวกเรา หลายชิ้นกลับไปเติมพลังให้กับทีมที่มองเห็นข้อบกพร่องของตนเอง และพยายามหาทางกลับไปซ่อมแซมงานของตน คำถามจากพวกเขาคือ งานของเขาพอจะสามารถเผยแพร่ออกสู่สายตาคนไทยได้หรือไม่ เมื่อไหร่ ?
คำตอบจากเราคือ 3 วัน 2 คืน ของการมาพบกันเพื่อเรียนรู้การทำงานข่าวที่หัวใจสำคัญคือหาวิธีสื่อสารให้คนดูได้เข้าใจนั้นเป็นเวลาเพียงสั้นๆ หากต่อจากนี้การได้เชื่อมโยงกัน ปรึกษาหารือ ปรับปรุงงานด้วยกันอย่างไม่ย่อท้อต่างหากคือคำตอบว่าเราจะช่วยกันนำประเด็นต่างๆ ที่ล้วนแต่มีคุณค่าต่อการนำเสนอนั้น ออกมาเมื่อไหร่
เพียง 2 วันของการจบการอบรม งานของเครือข่ายนักข่าวพลเมืองชาติพันธุ์ของบางกลุ่มทยอยออกมานำเสนอในช่วงนักข่าวพลเมืองของทีวีไทย พวกเขาผลิตงานชิ้นใหม่เพิ่ม และอีกหลายเครือข่าย พยายามแก้ไขงานที่ได้รับคำแนะนำในการอบรมไป
สำหรับพวกเราที่ได้ไปพบกับเครือข่ายมากมายในการร่วมกับฝึกอบรมนักข่าวพลเมืองนั้นค้นพบว่า หากเจ้าของประเด็น ลุกขึ้นมาลงมือสื่อสารด้วยตนเองเพราะมีความต้องการอย่างแรงกล้าภายในใจ ที่จะสื่อสารให้คนได้เข้าใจเรื่องของเขาแล้ว พวกเขาจะมีพลังฝึกฝนเรียนรู้และปรับแก้ไขงานเป็นอย่างยิ่ง และเครือข่ายนักข่าวพลเมืองชาติพันธุ์จากพม่ากลุ่มนี้ ได้ตอกย้ำสิ่งที่เราค้นพบ “เมื่อเจ้าของประเด็นลุกขึ้นมาสื่อสาร โลกของข้อมูลข่าวสารจะเปลี่ยนแปลง และพรมแดนรัฐชาติใด ก็ไม่อาจขวางกั้น…ความจริง”
สัมภาษณ์ ลุงจอเพชร ชาวลาหู่ ผู้พิการต้องใช้ไม้เท้า แต่ให้แง่คิดเติมข้อมูลในเรื่องพม่าได้อย่างมากมาย คุณลุงให้สัมภาษณ์ว่าทำไม ชาติพันธุ์อยากจะลุกมาเรียนรู้การสื่อสารกับคนไทย