10 พ.ย. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เผยแพร่ แถลงการณ์ ขอให้มีการไต่สวนกรณีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหย่อง ซึ่งมีการแถลงข่าวโดยกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2558 สันนิษฐานว่า ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต ระหว่างถูกควบคุมตัว (คลิกอ่านข่าว: ดูแถลงกรมราชทัณฑ์แจงเหตุ “หมอหยอง” เสียชีวิต ด้านสื่อรายงานญาติรับศพแล้ว)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ และ สมาคมสิทธิเสรีภาพฯ ระบุข้อเรียกร้องให้ 1.แต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ เพื่อสอบสวนมาตรฐานการรักษาพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในการรักษาพยาบาลนายสุริยัน
2.ดำเนินกระบวนการไต่สวนการตายของนายสุริยัน ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัด ทันที เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม หลักนิติธรรมและเพื่อให้สังคมได้มีความเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมจะอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกคนทุกฐานความผิดอย่างเสมอหน้ากัน
แถลงการณ์ ตามที่กรมราชทัณฑ์แถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ว่านายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ต้องขังความคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอยู่ระหว่างฝากขังผลัดที่ 2 ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 สันนิษฐานว่า ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตและระบุว่าการเสียชีวิตครั้งนี้เป็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุม เจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวน แพทย์ พนักงานอัยการ และพนักงานฝ่ายปกครอง รวม 4 ฝ่าย มาชันสูตรพลิกศพ ซึ่งในกรณีนี้ได้แจ้งพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ซึ่งเป็นท้องที่ที่พบศพ และส่งศพให้สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ทำการตรวจพิสูจน์ศพเรียบร้อยแล้ว เรือนจำได้แจ้งญาติผู้เสียชีวิตให้มาขอรับศพเพื่อไปดำเนินการตามประเพณีต่อไป นั้น สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่า การเสียชีวิตนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ถือเป็นการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 กล่าวคือ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต้องทำการชันสูตรพลิกศพ และพนักงานอัยการต้องทำคำร้องให้ศาลไต่สวนเพื่อให้ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ทำให้ตาย และในชั้นการชันสูตรพลิกศพได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ญาติทราบเท่าที่จะทำได้ก่อนมีการชันสูตร แต่ในการแถลงของกรมราชทัณฑ์ไม่ปรากฏว่ามีญาติร่วมในกระบวนการชันสูตร สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องให้ 1.แต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระเพื่อสอบสวนมาตรฐานการรักษาพยาบาลของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในการรักษาพยาบาลนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ 2.ดำเนินกระบวนการไต่สวนการตายของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัด ทันที เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม หลักนิติธรรมและเพื่อให้สังคมได้มีความเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมจะอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกคนทุกฐานความผิดอย่างเสมอหน้ากัน ด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) |