นักกฎหมาย-องค์กรสิทธิฯ ร้องหยุดคุกคามการทำงาน ‘ทนายความ 14 นศ.’ หลังถูกตรวจยึดรถ

นักกฎหมาย-องค์กรสิทธิฯ ร้องหยุดคุกคามการทำงาน ‘ทนายความ 14 นศ.’ หลังถูกตรวจยึดรถ

27 มิ.ย. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ จากกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ขอเข้าตรวจค้นรถของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ หนึ่งในทนายความของผู้ต้องหาที่เป็นนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ที่ถูกข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 

เหตุเกิดเมื่อช่วงเวลาประมาณ 00.30 น.วันนี้ (27 มิ.ย.2558) หลังจากเจ้าหน้าที่นำกลุ่มนักศึกษาไปควบคุมตัวที่เรือนพิเศษจำกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลาง แต่ทนายความและทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ยินยอม เนื่องจากการตรวจค้นวัตถุพยานตามกฎหมายจะต้องกระทำในที่เกิดเหตุ หรือต้องมีหมายศาลนั้น ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ใช้กระดาษปิดทับที่เปิดประตูรถเพื่อไม่ให้สามารถเปิดประตูรถ และนำแผงเหล็กมากั้น เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายรถยนต์ ทำให้ทีมทนายส่วนหนึ่งต้องนอนเฝ้ารถในคืนที่ผ่านมา

ล่าสุด เจ้าหน้าได้เข้าทำการการตรวจค้น เมี่อเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันนี้ (27 มิ.ย.) และได้ตรวจยึดโทรศัพท์และแท็บเล็ตของนักศึกษาที่ฝากเอาไว้เมื่อคืนก่อนถูกนำตัวไป ไปตรวจสอบโดยละเอียดที่ สน.ชนะสงคราม โดยก่อนหน้านี้ ทนายความและเจ้าของรถเดินทางไปแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม ในความผิดตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากตำรวจไม่มีอำนาจยึดรถไว้

20152706160606.jpg

ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่ร่วมลงชื่อ มีความเห็นดังต่อไปนี้ 

1. พฤติการณ์การตรวจค้นดังกล่าวของเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 (4) ที่กำหนดว่า “ ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นและในกรณีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน…” เนื่องจากในการดำเนินการขอตรวจค้นนั้น เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถอธิบายเหตุผลและข้อสงสัยได้ว่าต้องการตรวจค้นสิ่งใดที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างไร 

2. ท่ามกลางสถานการณ์การคุกคามจำกัดเสรีภาพ และการใช้อำนาจจับกุมดำเนินคดีประชาชนในปัจจุบัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอดตามหลักวิชาชีพทนายความ และทนายความมีหน้าที่ปกป้องรักษาประโยชน์ของลูกความตาม ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ซึ่งมีสาระสำคัญตามข้อ 11 และข้อ 12 ว่า 

ห้ามเปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล และห้ามกระทำการอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความโดยไม่ถูกคุกคามจากอำนาจใดๆ ถือเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
 
“สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรดังมีรายชื่อแนบท้าย ขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเพื่อดำเนินการทางวินัยและทางอาญา และคืนรถยนต์ของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความของขบวนการประชาธิปไตยใหม่โดยทันที” แถลงการณ์ระบุ

 

แถลงการณ์ขอให้ยุติการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2558 เวลาประมาณ 00.30 น. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังศาลทหารกรุงเทพสั่งอนุญาตให้ฝากขังและออกหมายขังผู้ต้องหาที่เป็นนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 3/2558 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ขอเข้าตรวจค้นรถของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ หนึ่งในทนายความของผู้ต้องหา เพื่อค้นหาวัตถุพยานการกระทำผิดของผู้ต้องหา โดยเจ้าพนักงานตำรวจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้เตรียมดำเนินการยกรถยนต์ของทนายความไปยังสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามเพื่อทำการตรวจค้น แต่ทนายความและทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ยินยอม เนื่องจากการตรวจค้นวัตถุพยานต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ใช้กระดาษปิดทับที่เปิดประตูรถเพื่อไม่ให้สามารถเปิดประตูรถและนำแผงเหล็กมากั้นเพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายรถยนต์ 

จากพฤติการณ์ดังกล่าว สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรดังมีรายชื่อแนบท้าย มีความเห็นดังต่อไปนี้ 

1. พฤติการณ์การตรวจค้นดังกล่าวของเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 (4) ที่กำหนดว่า “ ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นและในกรณีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน…” เนื่องจากในการดำเนินการขอตรวจค้นนั้น เจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถอธิบายเหตุผลและข้อสงสัยได้ว่าต้องการตรวจค้นสิ่งใดที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างไร 

2. ท่ามกลางสถานการณ์การคุกคามจำกัดเสรีภาพ และการใช้อำนาจจับกุมดำเนินคดีประชาชนในปัจจุบัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอดตามหลักวิชาชีพทนายความ และทนายความมีหน้าที่ปกป้องรักษาประโยชน์ของลูกความตาม ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ซึ่งมีสาระสำคัญตามข้อ 11 และข้อ 12 ว่า 

ห้ามเปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล และห้ามกระทำการอันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความโดยไม่ถูกคุกคามจากอำนาจใดๆ ถือเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
 
ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ของทนายความไว้ ไม่ให้เคลื่อนย้าย โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรในการใช้อำนาจตรวจค้นหรือยึด จึงถือได้ว่าเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ทนายความ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรดังมีรายชื่อแนบท้าย ขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเพื่อดำเนินการทางวินัยและทางอาญา และคืนรถยนต์ของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความของขบวนการประชาธิปไตยใหม่โดยทันที      

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ