ภาคประชาสังคมร่วมจัดงานรำลึก 2 ปี การหายไปของสมบัด สมพอน โดยมีบุคคลสำคัญในชีวิตของสมบัด สมพอน ทนายสมชาย นีละไพจิตร และบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญร่วมเสวนาเล่าเรื่องราวชีวิต ความคิด และความฝันของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย
วันนี้ (15 ธ.ค. 57) เวลา 13.00 น. ภาคประชาสังคมนำโดยกลุ่ม Sombath Somphone & Beyond Project เครือข่ายคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขง Sombath Initiative สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ร่วมกันจัดงาน “รำลึก 2 ปี การหายไปของสมบัด สมพอน (2 years I remember)” ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวชีวิต ความคิด ความฝัน และประสบการณ์ของผู้ถูกอุ้มหาย ซึ่งนอกจากเรื่องราวของสมบัด สมพอนแล้ว ยังมีการพูดถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร และบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ โดยมีบุคคลสำคัญในชีวิตของทั้งสามคนมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวให้กับผู้เข้าร่วมงาน
ในช่วงของการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ถ้าโลกนี้ไม่มีการอุ้มหาย…” บุคคลสำคัญในชีวิตของผู้ถูกอุ้มหายทั้งสามคนได้เล่าถึงสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะเกิดขึ้นกับสังคมในอีก 30 ปีข้างหน้า หากสมบัด ทนายสมชาย และบิลลี่ไม่ถูกอุ้มหายไป
น.ส.เปรมฤดี ดาวเรือง เพื่อนร่วมงานของสมบัด สมพอนกล่าวว่า สมบัด สมพอนเป็นนักพัฒนาที่เชื่อมั่นในพลังของคนหนุ่มสาว และให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชน การสร้างสันติภาพ และเป็นผู้นำแนวคิด “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” ดังนั้น หากสมบัด สมพอนไม่ถูกอุ้มหาย สังคมลาวในอนาคตคงจะเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้พัฒนาประเทศลาวให้เจริญก้าวหน้า
“… ถ้าอ้ายสมบัดยังอยู่กับเรา ข้อแรกที่น่าจะเกิดขึ้นแน่นอน คือ จะมีเยาวชน คนหนุ่มสาวในวันนี้ ที่จะกลายเป็นผู้นำในแวดวงของการพัฒนาในลาว จะเติบโตกลายเป็นผู้นำที่มีความเชื่อมั่น มีความกล้าหาญ มีกำลังใจอีกหลายคน ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นอ้ายสมบัดคนที่สอง คนที่สาม คนที่สิบ คนที่ร้อย และคนเหล่านี้จะเป็นคนที่จะพาลาวให้ก้าวไปข้างหน้าได้ และเราคงจะมีความหวังได้กับประเทศลาวที่เป็นประเทศเล็กๆ ประเทศลาวน่าจะยืนหยัดในประชาคมโลก และประชาคมของภูมิภาคได้อย่างมีศักดิ์ศรีมากกว่านี้…”
“… ลาวน่าจะมีกฎหมาย น่าจะเปิดโอกาสให้คนในแวดวงพัฒนาหรือประชาชนทั่วไปได้พูดในสิ่งที่พวกเขาอยากจะพูด ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนากรอบกฎหมาย กฎระเบียบ ยอมรับความทียม นี่คือสิ่งที่ไม่ใช่ภาพฝันใน 30 ปี แต่เป็นสิ่งที่พวกเราที่ทำงานในลาวมีความหวังมาโดยตลอด” น.ส.เปรมฤดี กล่าว
ด้าน ดร.ประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาวของทนายสมชาย นีละไพจิตร และนางอังคณา นีละไพจิตรกล่าวว่า หากทนายสมชายยังอยู่ สังคมคงจะตั้งคำถามกับเรื่องความยุติธรรมมากขึ้น เพราะสิ่งที่ทนายสมชายให้ความสำคัญ คือ กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่รวมไปถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่กระทำความผิด
“… ดิฉันพยายามจะแกะเรื่องที่คุณสมชายทำ 30 ปีข้างหน้าถ้าเขายังอยู่ ไอเดียที่เขาจะทำคือเรื่องคนไม่ดีในสังคมไทย โจรก่อการร้ายภาคใต้ คนค้ายาบ้า ตอนนั้นดิฉันไม่เข้าใจคุณสมชาย แต่ ภูมิใจมากที่ ณ ตอนนี้ระดับความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยขยับเข้ามาใกล้การอภิปรายว่าคนไม่ดีก็มีคุณค่าทางสิทธิมนุษยชน ดิฉันคิดว่าคุณสมชายก้าวหน้ามากๆ ในเวลานั้น ซึ่งไม่ค่อยมีคนตั้งคำถามว่า คนเลวต้องการด้วยเหรอเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนเป็นของเฉพาะคนดี หรือคนที่ทำถูกต้องตามกฎหมายรึเปล่า…”
“… ดิฉันคิดว่าถ้าคุณสมชายยังอยู่ เขาจะไม่เพียงมีบทบาทในการเคลื่อนไหวในเชิงโครงสร้างรื่องกระบวนการยุติธรรม แต่คุณสมชายจะแตะไปถึงขั้นวัฒนธรรม ความคิด ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน” ดร.ประทับจิต กล่าว
ในส่วนของ น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ ภรรยาของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถึงแม้จะไม่ได้มาเข้าร่วมงานแต่ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอ โดยกล่าวว่า หากบิลลี่ยังอยู่ ชาวบ้านที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยคงจะมีที่ดินทำกินกันทุกครอบครัว
“… เขาตั้งใจจะหาทางช่วยเหลือหมู่บ้านของเขา เพราะปู่ของเขาถูกเผาบ้าน ต้องลงมาอยู่บางกลอยล่าง เขาก็คิดจะหาทางช่วยเหลือ เขาบอกว่าเขาจะช่วยฟื้นฟูวิถีชีวิต สร้างคุณภาพชีวิตให้ดี ให้ได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันทุกคน เขาอยากให้ชาวบ้านทุกคนมีที่ดินทำกิน เพื่อชาวบ้านจะได้มีความสุข”
“…คิดว่าถ้าพี่บิลลี่อยู่ งานที่เขาคิดไว้ เขาคงทำได้สำเร็จ และชาวบ้านจะได้สิ่งที่เขาต้องการ แต่ตอนนี้พี่บิลลี่ไม่อยู่ บางคนเขาก็หวาดกลัว ไม่รู้จะถามใคร ถ้าพี่บิลลี่ยังอยู่ก็จะไม่มีชาวบ้านคนไหนที่หวาดกลัว ระแวงว่าจะมีใครบ้างไหมที่จะคิดทำร้าย พี่บิลลี่เป็นที่ปรึกษาให้พวกเขาได้ทุกเรื่อง” น.ส. พิณนภา กล่าว
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการฉายภาพยนตร์สารคดีรางวัลสหประชาชาติปีล่าสุด ‘Unjust’ เรื่องราวการต่อสู้ของญาติผู้ถูกบังคับสูญหายในภูมิภาคเอเชีย มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมงานที่มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติทั้งจากชาติตะวันตกและประเทศอาเซียนในเรื่องการอุ้มหาย และแนวทางการรณรงค์เพื่อยุติการบังคับสูญหายในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งบอกเล่ากิจกรรมที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้จัดงานได้ทำมาตลอดระยะเวลาสองปีของการหายตัวไปของสมบัดสมพอน และปิดท้ายงานด้วยสารจากเครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำโขงถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลที่กล่าวว่าการบังคับบุคคลสูญหายถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเอเชีย ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อครอบครัวของบุคคลผู้ถูกบังคับสูญหายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการร่วมมือกันสร้างประชาคมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ดร.ประทับจิต นีละไพจิตร ในฐานะหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ร่วมจัดงานรำลึก 2 ปี การหายไปของสมบัด สมพอนกล่าวเพิ่มเติมว่า การบังคับบุคคลสูญหายไม่เพียงแค่ทำลายสิทธิอื่นๆ ที่พวกเขาควรได้รับในฐานะมนุษย์แต่ยังได้ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาและคนในครอบครัวของพวกเขาด้วย และจากการศึกษาพบว่า วิธีการต่อสู้กับการอุ้มหาย คือ การช่วยกันเล่าเรื่องของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย และช่วยกันสร้างนิยามความเป็นตัวตนของพวกเขาเพื่อแข่งขันกับการนิยามกระแสหลักที่ผู้มีอำนาจเป็นผู้นิยามไว้ว่าบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นกลุ่มคนที่ทำผิดวัฒนธรรมหรือกฎระเบียบของสังคม ตนจึงคิดว่างานรำลึกเช่นนี้สำคัญมากเพราะเป็นการแสดงถึงความไม่ยอมจำนนต่อการอุ้มหายซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมากทั้งในเอเชียและในโลก
ทั้งนี้ สมบัด สมพอน เป็นนักพัฒนาชาวลาวนักพัฒนาอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัล “รามอน แมกไซไซ” ด้านบริการสังคมปี 2548 เขาถูกอุ้มหายไปในช่วงหัวค่ำของวันที่ 15 ธ.ค. 2555 บนถนนท่าเดื่อ ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยมีพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิด แสดงให้เห็นภาพสมบัดถูกตำรวจจราจรเรียกให้หยุดรถ ก่อนจะถูกคนกลุ่มหนึ่งนำตัวขึ้นรถไป ผ่านมาเป็นเวลา 2 ปี ท่ามกลางการเรียกร้องจากองค์กรต่างๆ ทั้งในอาเซียนและนานาชาติ ก็ยังคงไม่มีข้อมูลความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีนี้จากรัฐบาลลาว
วิรดา แซ่ลิ่ม/ รายงาน