แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์สูงมากถึง 13 กลุ่ม ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชนจึงมีความแตกต่าง น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งและนักท่องเที่ยวสามารถมาเรียนรู้แต่ละวิถีชุมชนใหม่ๆ ได้ทุกครั้งที่มาเยือน
เมื่อถึงฤดูกาลท่องเที่ยว บานประตูแม่ฮ่องสอนก็จะเปิดกว้างต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ช่วงปลายฝนที่มีประเพณีเทศกาลออกหว่า หรือออกพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทใหญ่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่พื้นที่ราบ ไปจนถึงลอยกระทงเดือนพฤศจิกายน และประเพณีปีใหม่ของชาวลาหู่ ชาวม้ง จึงทำให้ช่วงไฮซีซั่นของแม่ฮ่องสอนไม่ได้มีดีแค่ธรรมชาติที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังมีการท่องเที่ยว ที่เรียกว่า “ท่องเที่ยวชุมชน” เป็นอีกทางเลือกให้นักท่องเที่ยวที่สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ท่องเที่ยวชุมชนจัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชน
กัลยา รักจันทร์ หรือครูแมว ข้าราชการครูเกษียณ ซึ่งได้มาทำงานกับกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านเมืองปอน อ.ขุนยวม ได้เล่าให้ฟังว่า เมืองปอนเป็นชุมชนไทใหญ่เก่าแก่ โดยมีหลักฐานการก่อตั้งวัดเมืองปอนเมื่อปี 2410 นั่นหมายความว่า หมู่บ้านเมืองปอนมีอายุไม่น้อยกว่า 157 ปีมาแล้ว แต่หมู่บ้านแห่งนี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของไทใหญ่อย่างเหนียวแน่น รวมถึงอาคารบ้านเรือนของหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ รูปทรงแบบบ้านไทใหญ่ ทั้งยังเป็นหมู่บ้านที่มีระบบเหมืองฝายและท้องนารอบๆ ทำให้เมืองปอนคล้ายหมู่บ้านดั้งเดิมในอดีต หากนักท่องเที่ยวที่โหยหาวิถีชีวิตในอดีต ก็สามารถมาเดินชมหมู่บ้านเมืองปอนได้อย่างอบอุ่น สบายใจ
สำหรับประเพณีออกหว่า เป็นประเพณีต้อนรับการเสด็จมาเยือนของพระพุทธเจ้า จึงทำให้สีสันของการตกแต่งวัดวาอารามและบ้านเรือนของพุทธศาสนิกชน มีความสวยงาม ทั้งการประดับประดาด้วยโคมไฟ ไม้เกี๊ยะ ไม้ไผ่ การจัดทำซุ้มหน้าบ้านแต่ละบ้าน เพื่อรอใส่บาตรยามเช้าตรู่ โดยมีตำนานบอกเล่าต่อๆ กันมาเสมอว่า ผู้มีบุญอาจจะได้ใส่บาตรกับพระพุทธเจ้าซึ่งลงมาบิณฑบาตร โปรดเหล่าสรรพสัตว์บนโลก
สำหรับเมืองปอน ปีนี้ก็เช่นกัน ประเพณีออกหว่ายังคงเป็นประเพณีสำคัญของชาวไทใหญ่ แต่ไม่เพียงแค่ออกหว่าเท่านั้นที่น่าชม เพราะหากใครมาช่วงออกหว่าไม่ทัน หลังการออกหว่า 7 วันผ่านไป ชาวไทใหญ่ยังมีอีกประเพณีที่เรียกว่า “ดับไฟเทียน” หรือ ปอยอ่องจ้อด ซึ่งเป็นประเพณีส่งท้ายการออกหว่า โดยถือว่าเป็นการส่งเสด็จพระพุทธเจ้ากลับสวรรค์ (หลังออกหว่าเสร็จ) จึงเป็นงานที่มีความสนุกสนาน รื่นเริง สำหรับชาวไทใหญ่ อีกทั้งยังแฝงคติความเชื่อในพระพุทธธรรมอีกด้วย
โฮมสเตย์เมืองปอน
เมืองปอน มีการจัดการโฮมสเตย์ แบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แบบเป็นทางการหมายถึงการได้รับรองมาตรฐาน จาก ททท. / และโฮมสเตย์แบบอาสาสมัครเฉพาะกิจ ใช้ในคราวที่มีกิจกรรมแล้วโฮมสเตย์แบบปกติไม่เพียงพอ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้สูงสุดคืนละจำนวน 200 คน แต่หากเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวแบบปกติ นอนพักสบายๆ สามารถรองรับได้ประมาณ 80 คน
ฟองจันทร์ ศิริน้อย ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านเมืองปอน ได้เล่าถึงที่มาของการทำโฮมสเตย์ของบ้านเมืองปอนว่า มีมานานแล้วกว่า 20 ปี เพราะตอนนั้นมีนายอำเภอท่านหนึ่งมาเที่ยวหมู่บ้านที่นี่แล้วชอบมาก จึงแนะนำชุมชนว่าสามารถทำโฮมสเตย์ได้นะ ตอนนั้นทุกคนไม่รู้จักว่าโฮมสเตย์คืออะไร จึงได้รวมตัวกันและรวมเงินกันไปดูหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่นายอำเภอแนะนำ พอไปเห็น ก็มั่นใจว่าพวกตนเองก็ทำได้ เลยมาลงขันกันได้เงินหมื่นกว่าบาท มาซื้อที่นอนใหม่ แจกจ่ายให้กลุ่มสมาชิกที่เปิดบ้านเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งนับจากวันนี้จนถึงวันนี้ เมืองปอนยังคงรักษาการทำโฮมสเตย์ไว้อย่างเหนียวแน่น มั่นคง เพื่อกระจายรายได้ให้กับชุมชน
แอ่วเหนือคนละครึ่ง ดีหรือไม่ดี ร่วมหรือไม่ร่วม
จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว กับโครงการ“แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ลองฟังเสียงผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอน ว่าพวกเขามีมุมมองและคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้
เริ่มจากผู้ประกอบการที่พักรุ่นใหม่ไฟแรง ถิรมนัส วงศ์คีรี เจ้าของเฮินไตรีสอร์ท อำเภอแม่ลาน้อย มองว่า เป็นโครงการที่ดีและกระตุ้นการท่องเที่ยวได้จริงๆหลังจากที่ภาคเหนือต้องประสบภาวะวิกฤตจากน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวแทบไม่ขึ้นมาเที่ยวเลย ก็มีการเข้ามาจองที่พักกันแล้ว แต่ข้อเสียคือ ให้สิทธิ์คนละครึ่งน้อยไป ซึ่งภาคเหนือทั้งหมดได้รับสิทธิ์เพียง 10,000 สิทธิ์เท่านั้น ซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือนพ.ย.นี้ น่าจะใช้สิทธิ์ครบหมด จึงเห็นว่าน่าจะมีการเพิ่มยอดสิทธิ์คนละครึ่งมากกว่านี้
ส่วนคุณฟองจันทร์ ศิริน้อย ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ที่นี่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากยังไม่ค่อยเข้าใจระเบียบวิธีการ และได้สะท้อนว่าสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่ทำโฮมสเตย์ มักจะไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร หลายคนจึงไม่กล้าเข้าร่วม กลัวว่าจะใช้ไม่เป็น
ในขณะที่ฟองจันทร์ ศิริน้อย ประธานกลุ่มโฮมสเตย์บ้านเมืองปอน อำเภอขุนยวม กล่าวว่า กลุ่มโฮมสเตย์และโฮมลอร์ด บนดอยแม่อูคอ (ทุ่งบัวตองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงทุ่งดอกบัวตองกำลังบาน นักท่องเที่ยวกำลังคึกคัก ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้เข้าร่วมเช่นกันเพราะผู้ดูแลส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน ไม่ค่อยเข้าใจว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และที่สำคัญคือ แถวนี้ไม่มีสัญญาณเน็ต ทำให้การสแกน QR code ต่างๆ ไม่สะดวก และทุ่งบัวตองเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเวลาเฉพาะช่วงดอกไม้บานเป็นเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมดังเดิม จึงไม่ได้เข้าร่วม