นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากคาดการณ์ปรากฏการณ์เอนโซที่ปัจจุบันอยู่ในภาวะปกติจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาจนถึงเดือนมีนาคม 2568 ส่งผลให้ฤดูการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2567/68 (1 พ.ย. 67 ถึง 30 เม.ย. 68) มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอ เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้อย่างเหมาะสมกับปริมาณน้ำใช้เพื่อการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดนโยบาย มาตรการและแผนส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง สำหรับนโยบายด้านการเกษตรวางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ กำกับติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2567/68 ของเกษตรกรให้เป็นไปตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่กำหนดไว้ โดยพิจารณาด้านการตลาดประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และด้านการตลาด
ในส่วนของมาตรการด้านการเกษตร ประกอบด้วย 1) มาตรการด้านการจัดสรรน้ำ ดังนี้ 1) เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำต้นทุนสามารถสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2567/68 จำนวน 6.47 ล้านไร่ 2) เขตลุ่มน้ำแม่กลอง สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และการเกษตร รวมไปถึงการส่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้งปี 2568 3) เขตลุ่มน้ำอื่น ๆ ให้วางแผนจัดสรรน้ำสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งนี้ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทาน 14 จังหวัด 28 อำเภอ 74 ตำบล 2) มาตรการด้านการเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง และปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเพื่อทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างความหลากหลายในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีระบบการให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม เพื่อให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ และกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กิจกรรมแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปลูกพืชใช้น้ำน้อย พร้อมทั้งดำเนินการด้านการตลาดเพื่อสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตร อันจะนำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนและเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2567/68 ตามปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ และความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่และตามความต้องการของตลาด ดังนี้ แผนการเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 15.38 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 12.73 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 10.02 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.71 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 2.65 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.62 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.03 ล้านไร่)
– สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวน 8.81 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 8.05 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 6.47 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.58 ล้านไร่) และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.76 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.09 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.67 ล้านไร่)
– และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด จำนวน 1.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.86 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.84 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.02 ล้านไร่) และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.26 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.17 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.09 ล้านไร่)
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 สร้างรายได้มากกว่าการทำนาปรังแต่ใช้น้ำน้อยกว่า อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาปรังและการเผาตอซัง ช่วยรักษาความความชื้นในดินและช่วยให้อากาศสะอาด ลดฝุ่น PM 2.5