ดูอีกครั้ง ‘คำสั่ง คสช.ที่ 14/2559’ จัดระเบียบอำนาจชายแดนใต้ ‘กอ.รมน.’ เหนือ ‘ศอ.บต.’

ดูอีกครั้ง ‘คำสั่ง คสช.ที่ 14/2559’ จัดระเบียบอำนาจชายแดนใต้ ‘กอ.รมน.’ เหนือ ‘ศอ.บต.’

20160504144308.jpg

5 เม.ย. 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 คำสั่งลงวันที่ 4 เม.ย.59 และประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวกัน

สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว คือการกำหนดแนวทางแต่งตั้ง “คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นแทน “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 

จากสภาที่ปรึกษาฯ เดิมมีที่มาหลากหลายทั้งจากตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ผู้แทนกลุ่มสตรี หอการค้า สื่อมวลชน และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ รวมไม่เกิน 49 คน 

แต่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 มีสมาชิก 60 คน มาจาก 1.การเสนอชื่อของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไม่เกิน 45 คน 2.เสนอชื่อจากผู้ว่าราชการ จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา จังหวัดละไม่เกิน 2 คน และ 3.ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจำนวนไม่เกิน 5 คน

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 ยังกำหนดให้กรรมการที่ปรึกษาฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และให้ทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาฯ เดิม ตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 โดยให้งดใช้บังคับบรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีใด ในส่วนที่อ้างถึงสภาที่ปรึกษาฯ หรือประธานสภาที่ปรึกษาฯ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

นอกจากนั้น คำสั่งดังกล่าวยังกำหนดให้การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง กอ.รมน.กับ ศอ.บต. ให้เลขาธิการ ศอ.บต.ปรึกษาหารือและรับข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของเลขาธิการ กอ.รมน.ไปดำเนินการหรือปฏิบัติงาน หากกรณีใดปัญหา ให้เลขาธิการ กอ.รมน.เสนอเรื่องให้ รองผอ.รมน. ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารบกโดยตำแหน่ง เป็นผู้วินิจฉัยสั่งการ

ส่วนในกรณีที่เกิด หรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ กอ.รมน.มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการประสานงาน หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย

ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตั้งข้อสังเกตุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 ในส่วนที่เกี่ยวกับการบูรณาการการทำงานระหว่าง ศอ.บต. กับ กอ.รมน.นั้น ทำให้ กอ.รมน.มีอำนาจตัดสินใจเหนือกว่า ศอ.บต. ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ให้อำนาจและศักดิ์ขององค์กร ศอ.บต. เทียบเท่า กอ.รมน.

ขณะที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและประสานงานเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในท้องที่ใด แต่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 กำหนดให้เป็นอำนาจของ กอ.รมน.

ด้าน INN รายงานว่า นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ชี้แจงผ่านแม่ข่ายสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยจังหวัดยะลา ในรายการ เลขาธิการ ศอ.บต.พบประชาชน ให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าใจและปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ว่า หลังจากที่เมื่อคืนได้มีการออกประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 14/2559 เรื่องเกี่ยวกับการบริการของ ศอ.บต. คือ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่าง ศอ.บต. กับ กอ.รมน.ภาค 4 และมีหลายคนโทรสอบถามถึงเรื่องนี้ ซึ่งตนก็ได้ยืนยันว่า ไม่ได้มีการยุบ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะช่วยทำให้เกิดการทำงานอย่างใกล้ชิดกันระหว่าง ศอ.บต. กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่งผลให้การดำเนินการทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงอยากให้ประชาชนเกิดความสบายใจและทำงานร่วมกันต่อไป

ลิงค์คำสั่ง : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/079/35.PDF

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ที่ 14/2559
เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

โดยที่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ยังไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน อันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่อาจใช้บังคับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เพื่อทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งในการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องมีการประสานการทำงานร่วมกันกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตาม ตรวจสอบ ประเมิน และอำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงสมควรเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อบูรณาการ การบริหาร การพัฒนา และการรักษาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาและปฏิรูปการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการบริหารราชการแผ่นดิน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่เกินหกสิบคนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ หรือมีผลงานเป็นที่ยอมรับในด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

หรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยการพิจารณาร่วมกันของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนไม่เกินสี่สิบห้าคน

(2) ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา จังหวัดละไม่เกินสองคน

(3) ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นจำนวนไม่เกินห้าคนให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกกันเองเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้หนึ่งคน รองประธานกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้สองคน และเลขานุการกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้หนึ่งคน

ข้อ 2 กรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปี

ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุตาย ลาออกหรือนายกรัฐมนตรีให้ออก ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ และให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตามที่เห็นสมควร โดยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

ข้อ 3 ให้งดใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 (1) (3) (5) (6) (7) และ (9) มาตรา 26 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น และให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ แทนสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามมาตรา 23 (2) (4) และ (8) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553

ข้อ 4 ให้งดใช้บังคับบรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีใด ในส่วนที่อ้างถึงสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ข้อ 5 เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรณีที่ต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรึกษาหารือและรับข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไปดำเนินการหรือปฏิบัติงาน

ในกรณีที่มีปัญหาว่าการดำเนินการหรือการปฏิบัติงานใดต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันตามวรรคหนึ่งหรือไม่ หรือในกรณีที่การดำเนินการตามวรรคหนึ่งมีความจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อยุติ ให้เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เสนอเรื่องดังกล่าวต่อรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเพื่อพิจารณาวินิจฉัยสั่งการ

ข้อ 6 ในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการประสานงาน หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย

ข้อ 7 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ