คลิป: ข้อเสนอแนะเชิงหลักการของรูปแบบโครงสร้างเส้นทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยภาคีสถาบันการศึกษาด้านการผังเมือง
หลัง ครม.เห็นชอบ “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยจะมีการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ฝั่งข้างละ 7 กิโลเมตร รวมระยะทาง 14 กิโลเมตร ความกว้างข้างละ 19.5 เมตร ตั้งแต่สะพานพระรามเจ็ดถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 14,006 ล้านบาท ขณะที่สังคมตั้งคำถามถึงการศึกษาถึงผลกระทบต่อชุมชน ผู้คน วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และมรดกทางวัฒนธรรมตลอดริมฝั่งน้ำ
ภาพจาก: ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 ภาคีพัฒนาริมพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา (พพพ.) จัดแถลงข่าวเรื่อง ข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ทบทวนโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา (ระยะที่ 1) โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา พพพ.ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสถาบันภาคการศึกษาด้านการผังเมือง ประกอบด้วย ผังเมืองจุฬาฯ ผังเมืองธรรมศาสตร์ ผังเมืองเกษตรศาสตร์ ผังเมืองศิลปากร และเครือข่ายสถาปนิก นักสิ่งแวดล้อมและชุมชน ได้แก่ มูลนิธิโลกสีเขียว สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอิโคโมสไทย เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมริมน้ำเจ้าพระยา ศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ธนบุรี และเครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ จัดเสวนาร่วมกัน ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพิจารณารายละเอียดโครงการฯ
ที่ประชุมดังกล่าวมีมติข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ทบทวนโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ระยะที่หนึ่ง 14 กิโลเมตร) รายละเอียดระบุว่า ถึงแม้ว่าภาคีฯ มีความยินดีที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ โดยภาคีฯ ขอแสดงความคัดค้านรูปแบบของโครงการฯ เนื่องด้วย
1.มีโครงสร้างขนาดความกว้างถึง19.50 เมตร และเป็นพื้นที่ดาดแข็งขนาดใหญ่ จะสร้างให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา อุทกศาสตร์ของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งภูมิทัศน์วัฒนธรรมของพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
2.มีรูปแบบมาตรฐานเป็นรูปแบบเดียวตลอดความยาวสองฝั่งแม่น้ำในบริเวณที่จะทำการก่อสร้างทั้งหมด14.00กิโลเมตรขาดความเชื่อมโยงต่อภูมิสัณฐานของตลิ่ง โครงข่ายการสัญจรของเมืองรวมทั้งรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความหลากหลายโดยเฉพาะบางบริเวณเป็นวัดและชุมชนเก่าที่มีเอกลักษณ์
3.ขาดการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ และการวิเคราะห์งบประมาณอย่างเหมาะสม
4.ขาดกระบวนการสำรวจความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนและการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะที่จะนำไปสู่การสร้างข้อเสนอรูปแบบของโครงการฯที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ทั้งในระดับพื้นที่โดยรอบและในระดับเมืองที่จะสามารถสร้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกันในระยะยาวได้
“ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาจึงได้เสนอให้รัฐบาลทบทวนรายละเอียดโครงการฯ โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบอย่างละเอียดรอบคอบ รวมทั้งกำหนดกระบวนการทำงาน ตลอดจนการศึกษาผลกระทบของโครงการฯ ในด้านต่างๆ อย่างชัดเจนทั้งก่อนและระหว่างการทำแบบ” ตัวแทนผู้ร่วมแถลงข่าวระบุ
ภาพจาก: ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา
ส่วนข้อเสนอแนะเชิงหลักการของรูปแบบโครงสร้างเส้นทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 1.น่าจะมีขนาด รูปแบบ และประโยชน์ใช้สอยอย่างหลากหลาย เหมาะสมกับการใช้งานของพื้นที่ริมฝั่งด้านใน 2.โครงสร้างดังกล่าวอาจอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหรือจะวกเข้ามาด้านในของพื้นที่ต่อเนื่องก็ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องบูรณาการกับพื้นที่สัญจรและพื้นที่สาธารณะเดิมของชุมชน 3.รูปแบบการออกแบบโครงสร้างทางริมน้ำนี้ควรมีการออกแบบไปพร้อมกับโครงสร้างรอยต่อสัณฐานของตลิ่ง
ผศ.ดร.ไขศรี กล่าวด้วยว่า จากความยาว 7 กิโลเมตร ไปและกลับ โครงสร้างนี้อาจมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ไม่มีความจำเป็นต้องมีความกว้างเกือบถึง 20 เมตร ตลอดแนวของโครงการ บางสวนหากผ่านชุมชนหรือวัดที่เก่าแก่ อาจเปลี่ยนเป็นทางเดินขนาดเล็ก และมีสเกลที่เหมาะสมกับการใช้งานของคนในชุมชน บางส่วนที่ไปแนบกับพื้นที่ของรัฐ ก็อาจบูรณาการไปรวมกับพื้นที่ภายในให้เกิดเป็นสวนสาธารณะริมน้ำที่ดี ในส่วนที่เป็นการเชื่อมต่อกับพื้นที่เส้นทางสัญจรที่เป็นตรอกซอกซอยเพื่อที่จะเป็นการรับรองว่าจะมีคนเช้าใช้พื้นที่ริมน้ำสาธารณะนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นอเนกประโยชน์
“วัตถุประสงค์ของภาคีฯ คือเราอยากสร้างบทให้รัฐบาลทบทวนโดยมีข้อเสนออย่างสร้างสรรค์ เพราะเราทราบดีว่าโครงการทางเดินริมน้ำสาธารณะเป็นโครงการที่ดี และเป็นโครงการที่ถือเป็นภูมิสัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รีบเกินไปนัก ไม่จำเป็นต้องตอกเข็มอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ เรามาทำกระบวนการกันไหม มามีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดโปรแกรมใช้สอยอย่างเหมาะสม มีพื้นที่รูปแบบของโครงการที่การันตีว่าชุมชนสามารถเข้าใช้โดยเขาเป็นส่วนหนึ่ง มีความเป็นเจ้าของ และมีสายตาเฝ้าระวัง ที่สำคัญคือสอดคล้องไปกับสัณฐานริมตลิ่งได้อย่างต่อเนื่องไปตลอดทั้งโครงการ” ผศ.ดร.ไขศรี กล่าว
ผศ.ดร.ไขศรี ยังกล่าวย้ำด้วยว่า การออกมาแสดงออกในวันนี้ไม่ได้ต้องการคัดค้านโครงการ แต่เป็นการคัดค้านรูปแบบเส้นทาง โดยต้องการให้สาธารณะได้รับรู้ข้อมูลเชิงวิชาการและความคิดเห็นด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมองว่าการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะต้องคำนึงถึงอนาคต จึงควรดำเนินการพัฒนาโครงการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม
“พื้นที่โครงการฯ เป็นพื้นที่สาธารณะของคนไทยทุกคน เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำของสาธารณะ” ผศ.ดร.ไขศรี กล่าว
ส่วน ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า ข้อเสนอของนักวิชาการคือยุทธศาสตร์การอยู่ร่วมกับน้ำที่เหมาะสมกับภูมิประเทศและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการออกแบบพื้นที่และการออกแบบเมืองต้องมองความต้องการในอนาคตด้วย โดยผสานการใช้โครงสร้างกับการฟื้นฟูธรรมชาติเข้าด้วยกัน ขณะที่โครงการในลักษณะ “โฮปเวลล์ริมน้ำเจ้าพระยา” นี้จะทำให้ระบบนิเวศของศักยภาพแม่น้ำลดลง ทั้งการไหลของน้ำ และก่อให้เกิดการสะสมขยะ ลดศักยภาพการฟื้นฟูบำบัดตัวเองของแม่น้ำ
ดร.สรณรัชฎ์ กล่าวถึงการอ้างตัวอย่างต่างประเทศในการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำให้เป็นรูปแบบเดียวตลอดทั้งสายว่า ตัวอย่างในเยอรมันที่ผ่านมาต้องเจอปัญหาน้ำท่วมหนัก กำลังมีการทบทวนการสร้างผนังริมตลอดลำน้ำ โดยการศึกษาแผนผังอย่างละเอียดเพื่อฟื้นฟูเลียนแบบพฤติกรรมตามธรรมชาติของแม่น้ำ ดังนั้นจึงไม่อยากให้ยึดติดกับรูปแบบของต่างประเทศ เพราะหลายแห่งนั้นเป็นของเก่าซึ่งกำลังต้องมีการปรับปรุงแก้ไข
ด้าน ผศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอบทวิเคราะห์ผลกระบทของโครงการฯ ในด้านบวกและด้านลบ ก่อนระบุว่า “ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ”
นอกจากนี้ ภาคีพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา (พพพ.) ยังมีการเผยแพร่ภาพข้อมูลเบื้องต้นของโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ระยะที่หนึ่ง 14 กิโลเมตร) ดังนี้
ภาพโครงการของรัฐที่ไม่ได้ให้ความชัดเจนหรือสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน
ภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ระยะทางถึง 5.9 กิโลเมตร ผ่านชุมชนเก่าแก่และมีความเป็นมาที่หลากหลาย โดย ชุมชน 29 แห่ง โรงเรียน 8 แห่ง ศาสนสถาน (วัด) 8 แห่ง และ สถานที่ราชการ 8 แห่ง จะได้รับผลกระทบ
ภาพความกว้างของแม่น้ำในช่วงต่างๆ โดยช่วงที่แคบที่สุดอยู่ที่บริเวณสวนสันติชัยปราการ 206 เมตร ใกล้อู่ต่อเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และการก่อสร้างตามรูปแบบโครงการฯ อาจมีผลกระทบกับการไหลของกระแสน้ำ
ภาพความสูงของตัวโครงการที่ถูกเรียกว่า “โฮปเวลล์ริมน้ำเจ้าพระยา” ที่บดบังภูมิทัศน์ 2 ฝากฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา